เส้นทางสู่การเป็นเจ้าของกิจการของตนเอง

พร้อมกันหรือยัง “รถไฟเหาะ” กำลังจะออกเดินทางแล้ว จับกัน ไว้ให้แน่นๆ เพราะบอกได้เลยว่า งานนี้มีเสียว และอาจจะทำให้คนที่หัวใจไม่แข็งแรง ช็อกหมดสติกันได้ง่ายๆ

ถ้า “คำขู่” เพียงแค่นี้ทำให้ขนหัวลุกแล้วละก็ เลิกคิดที่จะเป็นเจ้าของกิจการ แล้วกลับไปเดินในเส้นทางมนุษย์เงินเดือนจะสบายใจกว่า เพราะ “ความกล้า” เป็นหนึ่งใน “บุคลิกและทัศนคติ” ของเจ้าของกิจการที่ประสบความสำเร็จ

เถ้าแก่รุ่นใหม่ ใช่เราหรือเปล่า

ไม่น่าเชื่อว่า เจ้าของกิจการที่ประสบความสำเร็จ ไม่ว่าจะทำธุรกิจอะไร ธุรกิจขนาดเล็กหรือใหญ่ แค่ไหน ชนชาติไหน พวกเขามี “บางสิ่ง” ที่คล้ายๆ กัน (แน่นอนว่า ไม่ใช่ความรู้ในตำราเพียงอย่างเดียว) ซึ่งบางอย่างอาจจะดูเหมือนเป็นนิสัยที่ติดตัวมา ตั้งแต่เกิด แต่เชื่อเถอะว่า ทุกอย่างสามารถฝึก และสร้างขึ้นได้

  1. มุ่งมั่นที่จะประสบความสำเร็จ เรียกว่าเป็น “หัวใจ” ของการเป็นเจ้าของกิจการที่ประสบความสำเร็จ เพราะเมื่อ เรามีความมุ่งมั่นและความต้องการที่จะประสบความสำเร็จอย่างมาก มันก็จะทำให้เรา ไม่หวาดหวั่นต่อความล้มเหลว (ที่อาจจะเกิดขึ้น) และหากต้องเผชิญหน้ากับความล้มเหลว ความมุ่งมั่นจะคอยฉุดให้เราลุกขึ้นมาก้าวเดินต่อไป โดยไม่ล้มเลิกไปกลางทาง
    นอกจากนี้ การเป็นเจ้าของกิจการ ไม่สบายอย่างที่หลายคนคิด เพราะต้องอาศัย ทั้งกำลังกาย กำลังใจ และกำลังเงิน ยิ่งการ เริ่มต้นธุรกิจใหม่ ต้องทำแทบทุกอย่างด้วย ตัวเอง ต้องจัดการกับปัญหาแทบทุกอย่าง ที่จะกระหน่ำกันเข้ามาแบบไม่มีวันหยุดพัก เพราะฉะนั้นถ้าไม่มีความมุ่งมั่นอย่างจริงจัง ก็คงจะทนไม่ไหวและล่าถอยออกไปจาก ธุรกิจก่อนที่จะประสบความสำเร็จ
  2. กล้าเสี่ยงและกล้าตัดสินใจ ความกล้า เป็นอีกคุณสมบัติที่จำเป็น ของเจ้าของกิจการ โดยเฉพาะ “กล้าที่จะเสี่ยง” เพราะถ้ามัวแต่กลัวๆ กล้าๆ ไม่ว่าจะก้าวขา ออกไปทางไหนก็กลัวไปหมด ก็คงจะไม่มีวัน ได้เริ่มต้นธุรกิจ และความกลัวที่เป็นอันตราย ต่อการเป็นเจ้าของกิจการมากที่สุด คือ กลัวล้มเหลว
    แต่เมื่อกล้าที่จะเสี่ยงแล้ว จะต้องเป็น ความกล้าที่มีเหตุมีผล ไม่ใช่กล้าท้าตาย ทำธุรกิจโดยไม่มีการวางแผน ไม่ได้คิด ไตร่ตรองให้รอบคอบ
    นอกจาก กล้าเสี่ยงแล้ว จะต้องกล้า ตัดสินใจอีกด้วย เพราะในการทำธุรกิจ มี เรื่องให้ต้องตัดสินใจทุกวัน ผิดกับมนุษย์ เงินเดือนในระดับพนักงานทั่วไป ที่แทบจะ ไม่ต้องมีภาระหน้าที่ในการตัดสินใจเรื่อง สำคัญๆ และเรื่องที่ส่งผลต่อความอยู่รอด ทางธุรกิจ
    แต่สำหรับเจ้าของกิจการ ธุรกิจจะไปรอด หรือจะล้มเหลว ก็เกิดจากการตัดสินใจของ ตัวเราเองทั้งนั้น เพราะฉะนั้นต้องกล้าที่จะ ตัดสินใจ โดยความกล้ามีจุดกำเนิดมาจาก “ความเชื่อมั่นในตัวเอง” เชื่อว่า มีความรู้ มากพอ เชื่อว่าเงินทุนมากพอที่จะนำพาให้ ธุรกิจของเราประสบความสำเร็จ
  3. คิดต่างอย่างสร้างสรรค์ สมัยนี้การทำธุรกิจแบบเดิมๆ อาจจะทำได้แค่ “พออยู่รอด” แต่ถ้าต้องการให้ธุรกิจโดดเด่น เอาชนะคู่แข่งที่มีอยู่มากมาย และเติบโตได้อย่างยั่งยืน เจ้าของกิจการจะต้องมีความคิด ริเริ่ม สร้างสรรค์ เพื่อทำสิ่งที่แตกต่างและสิ่งที่ดีกว่า เพราะอย่างน้อยๆ เจ้าของกิจการที่ประสบความสำเร็จจะต้องปรับปรุงสินค้าและบริการของตัวเองอยู่ตลอดเวลา และเราจะ “ลํ้าหน้า” คู่แข่ง ถ้าหัดมองให้ไกล มองเห็นแนวโน้มธุรกิจในอนาคตว่า สินค้าอะไร และบริการแบบไหน กำลังจะเป็น “เทรนด์” ที่มาแรง เมื่อมองเห็นแล้วต้องไม่รอช้า รีบคว้าโอกาสนั้นมาให้ได้ ด้วยการ “คิดการใหญ่” ทำให้ไอเดียเล็กๆ นั้น กลายเป็นธุรกิจที่ยิ่งใหญ่และประสบความสำเร็จขึ้นมาให้ได้
  4. ไม่หยุดที่จะเรียนรู้ ถ้าพูดถึงการทำธุรกิจ คนที่เรียน “บริหารธุรกิจ” อาจจะ แอบยิ้มอยู่ในใจ แล้วคิดว่า “เรื่องกล้วยๆ” เพราะเรียนวิธีการทำธุรกิจมาหมดแล้ว แต่สำหรับเจ้าของกิจการที่ประสบ ความสำเร็จ พวกเขาไม่เคยหยุดที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ไม่เคยทิ้งนิสัย “ใฝ่รู้” แม้ว่า จะก้าวพ้นจากรั้วมหาวิทยาลัยไปนานแล้ว การเรียนรู้ของเจ้าของกิจการทำได้หลายทาง ตั้งแต่อ่านตำราวิชาการ เรียนรู้จากประสบการณ์ของคนที่ประสบ ความสำเร็จ เรียนรู้จากลูกค้า แม้กระทั่งเรียนรู้จากคู่แข่ง เพราะในโลกธุรกิจการหยุดเรียนรู้ หยุดพัฒนา ก็เท่ากับการถอยหลัง

ใจพร้อม... แต่จะทำธุรกิจอะไรดี

หลังจากสำรวจ “หัวใจ” ตัวเองแล้วว่าแข็งแกร่งพอ และพร้อมที่จะก้าวเข้าสู่เส้นทางของ การเป็นเจ้าของกิจการ แต่คิดไปคิดมาก็คิดไม่ตกสักที เพราะไม่รู้จะเริ่มต้นทำธุรกิจอะไรดี สุดท้ายก็เลยนั่งคิด นอนคิด อยู่แบบนั้น โดยไม่ได้เริ่มลงมือทำอะไรสักที

ไม่ต้องตกใจ เพราะเรื่องแบบนี้ไม่ใช่ “เด็กจบใหม่” อย่างเราๆ เท่านั้น ที่เจอปัญหานี้ เพราะลุงๆ ป้าๆ ที่เรียนจบไปหลายปี หลายคนก็ยังแบกความฝันที่จะเป็นเจ้าของกิจการ ไว้ในใจ โดยที่ไม่เคยได้ลงมือจริงๆ จังๆ สักที

จริงๆ แล้วปัญหา “ไม่รู้จะทำธุรกิจอะไรดี” มีวิธีแก้ง่ายนิดเดียว เริ่มจาก หยิบกระดาษ และปากกาขึ้นมา แล้วตั้งคำถามกับตัวเองว่า เราอยากทำอะไร เราชอบทำอะไร เราถนัดอะไร ที่บ้านทำธุรกิจอะไร จะต่อยอดอะไรได้บ้าง หรือ เรามองเห็นโอกาสจะทำธุรกิจอะไร ตามแนวทางการเริ่มธุรกิจต่อไปนี้

  1. ริเริ่ม
    • เห็นโอกาสทางธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็น เห็นทำเลดีๆ ที่เหมาะกับการทำการค้า มองเห็นช่องว่างทางการตลาด มองออกว่า ในตอนนี้ “เทรนด์” อะไรกำลังจะมาแรง
    • คิดค้นสิ่งใหม่ๆ ซึ่งคงจะเป็นพวก “เถ้าแก่ นักประดิษฐ์” ที่ประดิษฐ์คิดค้นสิ่งใหม่ๆ ที่น่าจะมีโอกาสขายได้
    • ทำธุรกิจที่อยากทำ อาจจะไม่ใช่ธุรกิจที่แปลกแหวกแนว แต่มาจากความชอบ เป็นการส่วนตัว เช่น เปิดร้านดอกไม้ เพราะชอบดอกไม้ เปิดร้านหนังสือ เพราะชอบอ่านหนังสือ เปิดร้านขายเสื้อผ้า เพราะชอบแฟชั่น
  2. ต่อยอด เจ้าของกิจการในรูปแบบนี้น่าจะได้เปรียบกว่าและง่ายกว่าการริเริ่ม เพราะอย่างน้อยๆ ก็พอจะมี “พื้นฐาน” อยู่บ้าง ทำให้ไม่ต้องไปเริ่มต้นใหม่ทั้งหมด
    • ธุรกิจครอบครัว ซึ่งการต่อยอดธุรกิจครอบครัวสามารถทำได้หลายรูปแบบ ตั้งแต่การขยายสาขา ทำธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง ธุรกิจที่อาศัยธุรกิจที่บ้านเป็นฐาน หรือผลิตสินค้าหรือขายวัตถุดิบส่งให้กับธุรกิจครอบครัว
    • งานประจำที่ทำอยู่ สำหรับคนที่มีความเชี่ยวชาญ หรือทักษะเฉพาะด้าน จากการทำงานประจำ จากการเป็นมนุษย์เงินเดือน สามารถต่อยอดทักษะอาชีพนั้นให้เป็นธุรกิจได้ ไม่ยาก เช่น หมอ ออกมาเปิดคลินิกของตัวเอง หรือพนักงานบัญชี ออกมาเปิดสำนักงานบัญชี
    • งานอดิเรก งานอดิเรกบางอย่างที่เราทำเป็นกิจกรรมในยามว่างอาจจะกลายเป็นธุรกิจ สร้างกำไรให้กับเราได้ เช่น ถ้าชอบทำงานฝีมือ สามารถทำขาย และต่อยอดไปจนถึงการเปิดร้านขายอุปกรณ์งานฝีมือ หรือจะข้ามขั้นไปเปิดสอนคนที่สนใจเลยก็ได้
  3. ซื้อกิจการ ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจที่อยากทำ หรือธุรกิจที่เห็นโอกาส แต่ไม่อยากริเริ่มด้วยตัวเอง เพราะรู้ว่าการเริ่มต้นจากศูนย์เป็นเรื่องยาก ก็อาจจะลดขั้นตอนความยุ่งยากด้วยการซื้อกิจการ
    • ซื้อกิจการที่มีอยู่แล้ว หรือเซ้งต่อกิจการ ซึ่งเจ้าของเดิม อยากขายด้วยเหตุผลต่างๆ นานา ไม่ว่าจะเป็น จะไปต่างประเทศ ไม่มีเวลาดูแล หุ้นส่วนมีปัญหา ซึ่งคนที่จะเริ่มธุรกิจด้วยวิธีการนี้ต้องหาคำตอบให้ได้ว่า “ถ้ากิจการดีจริงแล้วทำไมเจ้าของถึงยอมขาย”
    • แฟรนไชส์ น่าจะเรียกว่าเป็น “ธุรกิจกึ่งสำเร็จรูป” เพราะเจ้าของแฟรนไชส์จะวาง “ระบบ” ซึ่งเป็นเหมือนสูตรสำเร็จในการทำธุรกิจ ไว้หมดแล้ว เราไม่ต้องลองผิดลองถูกให้เสียเวลา นอกจากนี้ ยังมี หลากหลายธุรกิจให้เลือก ตั้งแต่ร้านสะดวกซื้อ โรงเรียนกวดวิชา ไปจนถึงข้าวมันไก่

จากนั้นก็เขียนทุกไอเดียที่ผุดขึ้นมาในสมองลงไปในกระดาษ หลังจาก “รีดไอเดีย“ กันออกมาจนหมดไส้หมดพุงแล้ว ก็ถึงเวลา “ฆ่าทิ้ง” โดยขีดฆ่าไอเดียธุรกิจที่คิดว่า “ไม่เหมาะกับตัวเรา” ออกไป ซึ่งอาจจะเป็นธุรกิจที่น่าจะมีโอกาสดี แต่เราไม่มีความรู้ด้านนั้น ไม่มีเงินทุนมากพอ หรือด้วยเหตุผลอื่นๆ ค่อยๆ คิด และค่อยๆ ตัดทิ้งไป จนเหลือธุรกิจที่คิดว่า เหมาะกับเรามากที่สุดสัก 2-3 ธุรกิจ

จากนั้นก็นำธุรกิจ 2-3 อย่างนั้นมา “ศึกษาความเป็นไปได้ทางธุรกิจ” ที่ไม่ใช่คิดเอง เออเอง ว่ามันน่าจะไปได้ดี แต่ต้องศึกษาอย่างจริงจังและรอบด้าน เพราะบางธุรกิจที่คิดว่า มันน่าจะ เหมาะกับเรา มันอาจจะเป็นธุรกิจที่เป็นไปได้ยาก หรือไอเดียเด็ดแต่ “ขายไม่ได้” หรือทำไป ก็ขาดทุน

ดังนั้นก่อนจะตัดสินใจเลือกธุรกิจต้องตอบคำถามหลักๆ 3 หัวข้อ ต่อไปนี้ให้ได้ก่อน

  1. ธุรกิจนี้น่าสนใจแค่ไหน คำถามในหัวข้อนี้จะช่วยให้เห็นภาพรวม ของธุรกิจที่เรากำลังจะก้าวเข้าไปว่า มันน่า สนใจจริงๆ อย่างที่เราคิดหรือไม่
    • มีการแข่งขันในธุรกิจมากน้อยแค่ไหน มีคู่แข่งกี่ราย ใครเป็นผู้นำตลาด แน่นอนว่า ถ้าเรา เป็นเจ้าของกิจการใหม่ที่ต้อง เข้าไปต่อสู้ในสนามรบที่คู่ต่อสู้ ทั้งรายใหญ่ รายเล็กอยู่เต็มไปหมด โอกาสที่เราจะกลายเป็นผู้ชนะ ก็ค่อนข้างยาก โดยเฉพาะในตลาด ที่มีผู้เล่นรายใหญ่ผูกขาดตลาด หรือแข่งขันด้วยการตัดราคา ถ้าไปเจอธุรกิจที่อยู่ในตลาด ลักษณะนี้อาจจะต้องย
    • ตลาดยังมีโอกาสเติบโตหรือไม่ ในบางธุรกิจที่แม้ จะแข่งกันแบบเอาเป็นเอาตาย แต่ยังเป็นธุรกิจที่มี โอกาสเติบโตต่อไปได้ หรือยังมีช่องว่างมากพอให้ เจ้าของกิจการหน้าใหม่แทรกตัวเข้าไปได้ แบบนี้ก็ ยังน่าสนใจ แต่ถ้าเป็นตลาดที่ใกล้จะถึงจุดอิ่มตัวแล้ว คงต้องโบกมือลา
    • ลูกค้ามีอำนาจต่อรองมากแค่ไหน เพราะในหลายๆ ธุรกิจที่ “อำนาจ” อยู่ในมือคนซื้อมากกว่าคนขาย เช่น ธุรกิจที่ขายสินค้าแบบเดียวกัน ให้บริการคล้ายๆ กัน ลูกค้ามัก “เลือกได้” และมักจะเลือกซื้อจากร้านที่ให้ ราคาถูกที่สุด เพราะฉะนั้นถ้าเราบุกเข้าไปก็อาจจะเป็น อีกรายหนึ่งที่เข้าไปติดกับดักก็ได้
    • ต้องพึ่งพิงแหล่งวัตถุดิบเพียงไม่กี่ราย หรือไม่ อำนาจการต่อรองของคนขาย วัตถุดิบมีมากน้อยแค่ไหน และต้นทุน วัตถุดิบเป็นอย่างไร เพราะสิ่งเหล่านี้ส่งผล ต่อการทำธุรกิจของเราทั้งสิ้น และคงไม่ดี แน่ๆ ถ้าต้องอาศัยวัตถุดิบจากคนขาย แค่รายเดียว
    • มีสินค้าหรือบริการอื่นๆ ที่สามารถ ทดแทนสินค้าหรือบริการของเราได้ไหม ซึ่งอาจจะเป็นได้ทั้ง “ของเลียนแบบ” และ “ของที่ใช้แทนกันได้” เพราะยิ่งลูกค้ามีทาง เลือกอื่นๆ มากขึ้น ก็จะทำให้การแข่งขัน ยิ่งสูงมากขึ้นไปอีก
    • เจ้าของกิจการรายใหม่เข้ามาในตลาด ได้ยากหรือง่ายแค่ไหน เพราะธุรกิจที่เริ่ม ได้ง่าย ใครๆ ก็ทำได้ อาจจะไม่ใช่ธุรกิจ ที่ยั่งยืน ถ้าเราไม่พยายามสร้างความ โดดเด่นให้กับสินค้าของเรา
    • มีอะไรที่น่าจะเป็น “อุปสรรค” ต่อตัวธุรกิจอีกหรือไม่ เช่น กฎหมายที่เกี่ยวข้อง ซึ่งถ้ามองไปทางไหนก็เห็นแต่อุปสรรค มากกว่า โอกาส อาจจะต้องยอมหยิบธุรกิจ ตัวต่อไปขึ้นมาพิจารณาแทน
  2. ธุรกิจนี้เหมาะกับเราจริงๆ หรือไม่ คำถามในข้อนี้เป็นการกลับมาถามตัวเองว่า ธุรกิจที่น่าสนใจมันเหมาะกับตัวเราหรือไม่
    • เราชอบมันไหม เพราะถ้าได้ทำในสิ่งที่ชอบ สิ่งที่รัก น่าจะเป็นการทำธุรกิจที่มีความสุขที่สุด
    • เรามีประสบการณ์ หรือเข้าใจเกี่ยวกับธุรกิจที่จะ ทำหรือไม่
    • เราทำได้ดีไหม เพราะในบางครั้งเพียงแค่ความชอบ เพียงอย่างเดียวอาจจะไม่พอสำหรับการเป็นเจ้าของกิจการ
    • เราทำได้ดีกว่าคนอื่นหรือไม่ หรือทำอะไรที่แตกต่าง จากคนอื่นๆ หรือไม่ เพราะเมื่อลงสนามแข่งแล้ว ถ้าต้องการจะเป็นผู้ชนะต้องทำให้เหนือกว่าคู่แข่ง
    • เรามีอะไรที่ด้อยกว่าคนอื่นบ้าง เพราะไม่ควรมอง แค่ข้อดีของเราเอง แต่จะต้องมองให้รอบด้าน มองให้ เห็น “ข้อด้อย” ของเราเองด้วย เพื่อที่จะหาวิธีปรับปรุง หาวิธีแก้ไข แต่ถ้ามันมากมายเกินกำลังก็คงต้องยอม ถอยกลับไปตั้งหลักกันใหม่
  3. ทุนน่ะ มีพอไหม ทีนี้ก็มาถึงคำถามที่สำคัญที่สุด เพราะความฝันของเราจะฟักออกมาจากไข่ ได้หรือเปล่าก็ขึ้นอยู่กับสิ่งนี้ นั่นคือ “เงินทุน” เพราะธุรกิจในฝันที่อนาคตดี มีแววรุ่ง แต่เรา ไม่มีโอกาสทำให้มันเป็นความจริง ก็เพราะ เรามีเงินทุนไม่มากพอ ก็เลยต้องปล่อยให้ เป็นธุรกิจในความฝันต่อไป หรือไม่ก็กลับไป มองหาธุรกิจที่ใช้เงินทุนน้อยลง
    นั่นเพราะการเริ่มต้นเส้นทางของเจ้าของกิจการควรจะเริ่มต้นจาก “เงินกู” มากกว่า “เงินกู้” เพราะสิ่งที่มาคู่กับเงินกู้ คือ ดอกเบี้ย ที่เริ่มเดินตั้งแต่วันแรกที่เรากู้ แต่ธุรกิจ ของเรามีโอกาสน้อยมากที่จะทำกำไรตั้งแต่วันแรกที่ตั้งต้นธุรกิจ ถ้าสำรวจตรวจสอบเงินทุนในกระเป๋าแล้วคิดว่า ยังน้อยนิดเกินไปที่จะเริ่มต้น ก็อย่าเพิ่งท้อ เพราะบอกแล้วว่า ถ้ามุ่งมั่นที่จะเป็นเจ้าของกิจการให้ได้แล้วละก็ ต้อง “สู้ไม่ถอย”
    ในเมื่อทุนเราน้อย ก็ต้องมองหา “ผู้ร่วมทุน” ซึ่งอาจจะเป็น คนที่มีความฝันเหมือนเรา คนที่อยากให้ฝันเราเป็นจริง หรือ คนที่เชื่อมั่นในความฝันของเรา โดยเฉพาะธุรกิจที่ไอเดียดี มีโอกาสประสบความสำเร็จได้ จะมี “คนใจดี” พร้อมจะช่วยลงทุน เช่น บริษัทเงินร่วมลงทุน (Venture Capital) และหน่วยงานภาครัฐที่สนับสนุนเจ้าของกิจการใหม่ แต่ถ้าไม่รู้จะไปหาผู้ร่วมทุนจากไหน เราก็คงต้องกลับไปตั้งหลักกันอีกรอบ ซึ่งอาจจะไป เริ่มทำงานประจำเพื่อสะสมทุน และยังได้สั่งสมประสบการณ์อีกต่างหาก ถ้ามีเป้าหมายชัดเจนว่า การทำงานประจำเป็นการเตรียมความพร้อมก่อนก้าวสู่โลกธุรกิจ ก็ควรจะพยายามเข้าไปอยู่ในธุรกิจที่เราสนใจ หรือธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง และถ้าให้ดีควรจะเป็น บริษัทขนาดเล็ก ซึ่งจะเอื้อต่อการเรียนรู้มากกว่าบริษัทขนาดใหญ่ เพราะเรามีโอกาสเรียนรู้ งานทั้งระบบ วิธีการทำงาน และธรรมชาติของการเป็นเจ้าของกิจการได้ดีกว่า

อย่างไรก็ตาม ในระหว่างนั้นเราต้องเริ่มต้นวางแผน ทางการเงิน โดยมีเป้าหมายที่จะเก็บเงินให้ได้สักก้อน หนึ่งและนำกลับมาสานฝันกันต่อไป ซึ่งวิธีการนี้ยังสร้าง “ประวัติทางการเงิน” ให้ธนาคารเห็นว่า เรามีวินัยทาง การเงิน ซึ่งหากวันหนึ่งเราต้องการเงินกู้เราจะไม่ทำให้ เจ้าหนี้ผิดหวังแน่นอน หลังจากผ่านการกลั่นกรองมาทั้ง 3 ด่านแล้ว ก็ถึงเวลา สรุปผล และผลที่จะออกมาถูกบีบให้เหลือ 2 ทางเท่านั้น คือ มันเจ๋งมาก หรือเจ๊งแน่นอน และถ้าโชคร้าย ในบรรดา 2-3 ธุรกิจที่เลือกมา กลายเป็นธุรกิจที่เข้าข่าย “น่าจะเจ๊ง” ก็อย่าได้ลังเลที่จะ ทิ้งไอเดียนั้นไปได้เลย แล้วกลับไปที่ขั้นตอนแรกกันอีกที แต่ถ้าแน่ใจว่า “น่าจะเจ๋ง” ก็เดินหน้าลุยกันเลย