ทฤษฏีองค์การของอองรี ฟาโยล

ทฤษฏีองค์การของอองรี ฟาโยล ( Henri Fayol ค.ศ. 1841-1925)
แนวคิดของอองรี ฟาโยล วิศวกรชาวฝรั่งเศส เป็นเจ้าของแนวความคิดว่าด้วยหลักการจัดการในการในการบริหารงานของผู้บริหารงานทั้งภาครัฐและเอกชน( Private and Public) หลักการจัดการดังกล่าวมีความยืดหยุ่นได้ (Flexibly) สาระของหลักการจัดการมี 14 ข้อ ดังนี้
1. การจัดแบ่งกลุ่มแรงงานตามความชำนาญ (Specialization of labor) การที่มีการแบ่งงานกันทำในแบบที่แต่ละคนมีเวลาที่จะพัฒนาความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านของตนได้ ทำให้เกิดการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน
2. อำนาจหน้าที่ (Authority) การทำให้คนบริหารงานระดับต่างๆ มีสิทธิที่จะสั่งการ และมีอำนาจที่ผู้ใต้บังคับบัญชาต้องเชื่อฟัง
3. กฎระเบียบและวินัย (Discipline) การต้องมีกฎระเบียบที่คนจะต้องปฏิบัติตาม ไม่หย่อนยานและไม่มีคนบิดพลิ้ว
4. ความเป็นเอกภาพทางคำสั่ง (Unity of command) คนทำงานแต่ละคนจะมีคนสั่งการเพียงคนเดียว คนที่อยู่เหนือขึ้นไป ก็ให้มีการออกคำสั่งและมีคนบริหารระดับรองลงไปนำไปบริหารจัดการอีกที่หนึ่ง (Each employee has one and only one boss.)
5. ความเป็นเอกภาพในทิศทาง (Unity of direction) องค์กรต้องมีทิศทางที่ชัดเจน และมีเอกภาพรวมเป็นหนึ่ง มีแผนงานที่จะต้องร่วมกัน และแต่ละฝ่ายนำแผนไปปฏิบัติตามนั้น
6. ผลประโยชน์ขององค์กรเหนือผลประโยชน์บุคคล (Subordination of Individual Interests) ในช่วงการทำงานนั้น งานย่อมต้องมาเหนือสิ่งอื่นใด ซึ่งแนวคิดนี้เป็นความแตกต่างไปจากองค์กรแบบครอบครัวซึ่งมีในสมัยก่อนและแม้ในปัจจุบัน ที่ผลประโยชน์ส่วนตัวและส่วนงานและองค์กรแยกกันไม่ออก
7. การมีระบบรางวัลค่าตอบแทน (Remuneration) ผู้ใต้บังคับบัญชาได้รับค่าตอบแทนจากบริการอย่างยุติธรรม และทางบริษัทหรือองค์กรก็ต้องปฏิบัติตามที่ได้ตกลงไว้นั้น
8. การบริหารงานแบบรวมศูนย์ (Centralization) ในการบริหารงานนั้นจะมีศูนย์รวมของอำนาจอยู่ ณ จุดเดียว การตัดสินใจต่างๆ จะเริ่มมาจากเบื้องบนลงมาเป็นลำดับ
9. การมีระบบสายบังคับบัญชา (Scalar Chain) หรือในภาษาอังกฤษอาจเรียกว่า line of authority เป็นสายการบังคับบัญชาที่แต่ละฝ่ายจะรู้กันจากระดับบนลงสู่ระดับล่าง คล้ายกับการสั่งการของกองทัพ
10. การมีคำสั่งที่เป็นลายลักษณ์อักษร (Order) ในการทำงานในองค์กรขนาดใหญ่ ต้องมีคนจำนวนมาก และการสื่อสารต่างๆ ต้องมีสิ่งที่เขียนไว้อย่างเป็นลายลักษณ์อักษร และจัดให้มีการจัดเก็บ ณ ที่ๆ คนจะใช้เป็นที่อ้างอิงได้
11. ความยุติธรรมและเสมอภาค (Equity) การได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกัน ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่าได้รับการปฏิบัติอย่างเหมือนๆ กัน ทั้งนี้เป็นความแตกต่างจากระบบในสมัยก่อนหน้านั้นที่มีระบบพรรคพวก และญาติพี่น้อง ซึ่งทำให้เกิดการปฏิบัติอย่างไม่เท่าเทียมกันและไม่เสมอภาค
12. ความมั่นคงในหน้าที่การงาน (Personnel Tenure) เพื่อให้การทำงานมีความต่อเนื่อง มีการลาออกจากงานต่ำ จึงให้มีระบบการจ้างงานตลอดชีพ หรือจนเกษียณอายุสำหรับคนทำงานที่ดี
13. การต้องมีความริเริ่ม (Initiative) ในการดำเนินการขององค์กรต้องมีการวางแผน คิดแผนที่จะต้องริเริ่ม และทำไปให้ได้ตามแผน ซึ่งเรื่องนี้เป็นความแตกต่างจากการทำงานแบบกิจวัตร ซึ่งไม่เพียงพอต่อความต้องการปรับเปลี่ยนและการเติบโตขององค์กรได้
14. การต้องมีขวัญและกำลังใจในการทำงานร่วมกัน (Esprit de corps) ทั้งนี้เพื่อความราบรื่นในการทำงาน ความเป็นกลุ่มก้อน ความผูกพันของคนทำงาน
ด้วยหลักการและเหตุผลของทฤษฏีองค์การของ อองรี ฟาโยล สามารถนำมาประยุกต์ใช้กับองค์กรได้ทั้งองค์กรแมงมุม องค์กรปลาดาวและองค์กรแบบลูกผสม ไม่ว่าจะเป็นองค์กรใดๆ หรือแบบใดก็จะต้องมีหลักการในการบริหารจัดการองค์กรที่ดีเพื่อที่การทำงานจะได้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลหลักการบริหารของฟาโยลมีทั้งหมด 14 ข้อซึ่งทุกข้อก็สามารถนำมาใช้ในองค์กรได้แต่จากการอ่านหนังสือมีข้อที่นำมาใช้โดยตรงดังจะกล่าวต่อไป รายละเอียดและข้อมูลจะเป็นการอธิบายถึงภาพรวมของการนำทฤษฏีมาใช้และตัวอย่างที่เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นภายในบริษัทหรือองค์กรต่างๆตามหนังสือที่ได้อ้างถึง คือ เริ่มจากอำนาจหน้าที่ในการสั่งการของผู้บังคับบัญชาหรือ หัวหน้าในองค์กรแบบแมงมุมเป็นตัวอย่างที่เห็นได้ชัด ในเรื่องของการสั่งการ องค์กรแบบนี้จะต้องมีโครงสร้างองค์กรแบบเป็นทางการลำดับขั้นจะเป็นแบบสูงลงมาล่าง มีสำนักงานใหญ่ การทำงานก็จะแตกต่างกับพวกที่เป็นปลาดาวเพราะมีการกระจายอำนาจ ในเรื่องของความเป็นเอกภาพในทิศทางจากการศึกษา “องค์กรไร้หัว” จะพูดถึงอุดมการณ์ของแต่ละกลุ่ม เช่น กลุ่ม ALF ที่รวมตัวกันเพื่อการปกป้องและรักษาสิทธิของสัตว์เป็นการรวมตัวกันขึ้นเพื่อที่จะช่วยเหลือสัตว์ที่โดนพรานหรือพวกล่าสัตว์ป่า ตามล่า กลุ่มนี้ก็จะทำการเข้าไปช่วยเหลือ สมาชิกในกลุ่มที่เข้ามาทำงานตรงนี้ก็เป็นกลุ่มคนที่มีอุดมการณ์เดียวกันมารวมตัวกันเพื่อทำงานนี้ขึ้นมาเพราะพวกเขาคิดว่า ผลประโยชน์ขององค์กรเหนือผลประโยชน์บุคคล ที่คิดแบบนี้ก็เพราะว่าพวกเขาทำงานเพื่อคนอื่นมากกว่าตัวเอง เหมือนกับพวก Catalyst ที่รวมตัวกันเพื่อการทำประโยชน์ให้กับคนหมู่มาก ในช่วงของการทำงาน ก็ต้องงานมาก่อน เช่นถ้าคุณต้องการวิธีโปรโมทผลิตภัณฑ์ใหม่ที่มันสร้างสรรค์ ขยายตัวสู่ตลาดใหม่ สร้างชุมชนในบริษัทของคุณ หรือปรับปรุงความสัมพันธ์กับลูกจ้าง สถานการณ์แบบนี้แหละที่ต้องใช้คนอย่างพวก Catalyst คือ การกระจายอำนาจการทำงานหลายๆคนเพื่องานใหญ่ๆและท้าทาย ในการทำงานก็ต้องมีความยุติธรรมและความเสมอภาคให้แก่สมาชิกทุกคน พวก Catalyst ก็จะเป็นแบบนี้มีความไว้วางใจแล้วก็ยังให้ความเสมอภาคกับทุกคนในทีม เหมือน บริษัท Toyota ที่ให้คนงานในสายการผลิตสามารถที่จะเสนอข้อคิดเห็นและวิธีการแก้ปัญหาในสายการผลิตได้ไม่เหมือนองค์กรอื่นๆที่คำสั่งการต้องมาจากข้างบน แต่บริษัท Toyota มีการบัญชาแบบล่างขึ้นบนด้วยให้ความเสมอภาคกับคนงานและพนักงานทุกๆคน ในการทำงานกับคนอื่นๆคุณก็ต้องมีความคิดริเริ่ม เหมือนกับคุณ Auren เขาเป็นคนพูดเร็วแต่สมองของเขาเร็วกว่า เสามารถที่จะสร้างแผนที่ได้ในขณะที่เขากำลังคุยกับคุณ การสร้างแผนที่ของเขาก็คือเขาสร้างแผนที่ในใจเขาเอง โดยเขาจะใช้ความคิดในช่วงที่กำลังคุยกับคุณว่าจะใส่คุณไว้ในเครือข่ายสังคมของเขาตรงไหนได้บ้าง เขาสามารถที่จะโยงได้ว่าเขารู้จักใครบ้างและคุณรู้จักใครบ้างหลังจากนั้นเขาก็จะทำการเชื่อมโยงคุณกับคนที่เขารู้จัก ให้รู้จักกันและเข้าร่วมเป็นสมาชิกในเครือข่ายของเขา
แนวคิดและทฤษฏีที่กล่าวมาทั้งหมดนี้และสาระต่างๆที่ได้จากการอ่านหนังสือไม่ว่าจะเป็นองค์กรแบบแมงมุม องค์กรแบบปลาดาว อาจจะสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับการบริหารจัดการองค์กรทั้งองค์กรภาครัฐและองค์กรภาคเอกชนทั้งที่มีอยู่ปัจจุบันและที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ให้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล มีศักยภาพที่ดีได้ หากคุณรู้จักวิธีการนำไปใช้ที่มีหลักการและเหตุผลที่เหมาะสมดิฉันก็หวังเป็นอย่างยิ่งว่าองค์กรของคุณคงจะเติบโตแบบก้าวกระโดดได้ในอนาคต