นโยบายการให้สินเชื่อ

ความหมาย : เป็นแนวทางหรือหลักการที่ได้วางไว้ เพื่อให้การพิจารณาสินเชื่อ สามารถเป็นไปแนวทางเดียวกัน นโยบายการให้สินเชื่อ มี 2 ลักษณะ คือ 1. กำหนดไว้เป็นลายลักษณ์อักษร 2. ไม่เป็นลายลักษณ์อักษร ใช้การประชุมชี้แจงถึงหัวข้อนโยบายที่สำคัญให้ทราบโดยทั่วถึงกัน

ปัจจัยที่ควรกำหนดไว้ในนโยบายสินเชื่อ

1. วัตถุประสงค์ของสินเชื่อ - เป็นเงินทุนหมุนเวียนหรือเป็นการส่งเสริมการลงทุน
- ลงทุนในสินทรัพย์ถาวร
- ชำระหนี้
- จ่ายเงินปันผล
- ลงทุนซื้อหุ้นสามัญของบริษัทอื่น
- เก็งกำไร
- ใช้ในกิจการที่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์
2. ชนิดของธุรกิจที่จะให้สินเชื่อ - กระจายเงินทุนไปในธุรกิจที่ก่อให้เกิดประโยชน์
- กระจายความเสี่ยงของสถาบันการเงินด้วย
- ศึกษาสภาพเศรษฐกิจส่วนรวมของประเทศ ตลอดจนอนาคต ของธุรกิจ เช่น ธุรกิจการเกษตร ธุรกิจอุตสาหกรรม ธุรกิจด้านการพาณิชย์ ธุรกิจอื่นๆ เป็นต้น
3. หลักประกัน มีประเด็นพิจารณา- ชื่อเสียงของผู้ขอสินเชื่อตลอดจนชื่อเสียงของผู้ค้ำประกัน
- ชนิดของหลักประกัน สามารถยืดหยุ่นได้ตามประเภทของสินเชื่อ
4. อัตราดอกเบี้ย ขึ้นอยู่กับ - สภาพคล่องของสถาบันการเงิน ถ้าหากมีสภาพคล่องทางการเงินสูง อัตราดอกเบี้ยต่ำ แต่ถ้าหากมีสภาพคล่องทางการเงินต่ำ อัตราดอกเบี้ยสูง
- ความเสี่ยง ถ้าหากเป็นธุรกิจที่มีความเสี่ยงสูง อัตราดอกเบี้ยสูง ในทางตรงกันข้าม ถ้าหากเป็นธุรกิจที่มีความเสี่ยงต่ำ อัตราดอกเบี้ยต่ำ
- ต้นทุนเงินทุน ต้องคำนึงถึงนโยบายของภาครัฐ คือการกำหนดเพดานอัตราดอกเบี้ยสูงสุด และศึกษาถึงลักษณะโครงสร้างตลอดจนแหล่งที่มาของเงินทุน
ประเภทของอัตราดอกเบี้ย - อัตราดอกเบี้ยคงที่ Fixed (ตายตัว) เหมาะกับสินเชื่อระยะยาว
- อัตราดอกเบี้ยลอยตัว Floated (เปลี่ยนแปลง) เหมาะกับสินเชื่อ ระยะสั้น
5. การชำระคืน - ควรมีการส่งพนักงานสินเชื่อไปเยี่ยมเยียนกิจการของลูกค้าเป็นครั้งคราวอย่างสม่ำเสมอ
- ควรให้สินเชื่อที่มีกำหนดวันชำระเงินที่แน่นอน เช่น เงินกู้ระยะยาว
- ควรมีการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการลงทุน เพื่อพิจารณาความสามารถในการชำระคืนของโครงการ
6. ประเภทของสินเชื่อ
สำหรับสถาบันการเงิน จะมีการจัดลำดับความสำคัญของประเภทสินเชื่อ (Priority) ดังนี้
- สินเชื่อที่จัดเป็นสินทรัพย์ไม่เสี่ยง เช่น การค้ำประกัน การอาว์ลและการรับรองตั๋วเงิน
- สินเชื่อระยะสั้นที่ให้ผลตอบแทนสูงและแน่นอน เช่น เงินกู้ระยะสั้น การจำนำสินค้า การรับซื้อเช็คลงวันที่ล่วงหน้า
- สินเชื่อระยะยาวเพื่ออุตสาหกรรม
- O/D
- สินเชื่อเกษตร
7. อำนาจอนุมัติ Credit Authority – ยึดหลักการกระจายอำนาจ เพราะการกำหนดอำนาจอนุมัติสินเชื่อไว้ที่ส่วนกลาง จะทำให้ใช้เวลานานและอาจเสียโอกาสในการแข่งขัน

การใช้นโยบายสินเชื่อให้เกิดประสิทธิภาพ

1. นโยบายนั้นควรเป็นแนวทางอย่างกว้างๆ ที่เจ้าหน้าที่ทุกระดับชั้นควรจะถือปฏิบัติ และสามารถนำไปปฏิบัติได้ และต้องสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของกิจการ
2. ความยืดหยุ่น Flexibility เป็นเรื่องสำคัญ
3. ต้องสื่อสารให้บุคคลที่เกี่ยวข้องได้ทราบถึงนโยบายสินเชื่อ โดยการประชุม หรือแจ้งเป็นลายลักษณ์อักษรแล้วแต่กรณี

 

วัตถุประสงค์และการกำหนดนโยบายการให้สินเชื่อ

 

ธุรกิจการค้า

สถาบันการเงิน

วัตถุประสงค์ของการให้สินเชื่อ

เพิ่มยอดขายมากที่สุด

ผลกำไร (ดอกเบี้ยรับและดอกเบี้ยจ่าย)

 

(ส่งเสริมการขาย)

มีกฏหมายควบคุมนโยบายการเงินและคลัง

อาจกล่าวได้ว่านโยบายสินเชื่อเป็นการกำหนดขอบเขต วัตถุประสงค์ของการให้สินเชื่อของธุรกิจเพื่อเป็นแนวทางให้การวิเคราะห์และตัดสินใจในการให้สินเชื่อเป็นไปในแนวเดียวกัน
การกำหนดปัจจัยในนโยบายสินเชื่อ ควรจะพิจารณาให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ขององค์การ ดังนี้คือ

 

 

วัตถุประสงค์

ธุรกิจการค้า
(ขายสินค้าและบริการเป็นเงินเชื่อ)

สถาบันการเงิน

1. เพิ่มยอดขายให้มากขึ้น

1. ผลกำไร

2. สามารถสู้กับคู่แข่งขันได้ (ขยายตลาดสินค้าและบริการ)

2. สามารถสู้กับคู่แข่งขันได้

3. กำไร

3. ความรับผิดชอบต่อสังคม (สังคมและผู้ฝากเงิน)

4. ความรับผิดชอบต่อสังคม

 

 

 

 

 

ปัจจัยที่กำหนด

1. ยอดขาย
2. สภาพคล่องทางการเงิน
3. คู่แข่งขัน
4. ลักษณะส่วนตัวของลูกค้า

1. กฎหมายและเงื่อนไขที่กำหนดไว้

2. สถานภาพเงินทุนของธุรกิจ

3. ความเสี่ยงภัยและผลกำไร
- เสี่ยงภัยให้น้อยที่สุด
- กระจายความเสี่ยง
- ลูกค้ามีความเสี่ยงสูง
แต่มีโอกาสเติบโต

4. ความเสมอต้นเสมอปลายและจำนวนเงินฝากคงที่

5. ภาวะเศรษฐกิจ

6. นโยบายการเงินของรัฐบาล

7. ความสามารถของบุคลากรสินเชื่อ

8. การแข่งขัน

ปัจจัยที่ควรพิจารณาในการวางนโยบายการให้สินเชื่อ

1. ฐานะเงินกองทุน
เงินกองทุนเป็นปัจจัยสำคัญประการแรกที่ต้องนำมาพิจารณาในการวางนโยบายให้สินเชื่อ เนื่องจากเงินกองทุนมีหน้าที่คุ้มครองเงินฝาก ขนาดของเงินกองทุนต่อเงินฝากจึงเป็นสิ่งที่ต้องนำมาพิจารณาว่า จะให้วงเงินสินเชื่อหรือเกิดความเสี่ยงภัยได้มากน้อยเพียงใด ซึ่งกฎหมายจะมีการกำหนดสินทรัพย์ สภาพคล่องและเงินสดสำรอง เพื่อความมั่นคงและลดความเสี่ยงภัย ดังนั้น สถาบันการเงินที่มีฐานะเงินกองทุนต่ำไม่อยู่ในฐานะที่จะขยายการให้สินเชื่อหรือดำเนินการเสี่ยงภัยได้มากเหมือนกับสถาบันการเงินที่มีฐานะเงินกองทุนมากกว่า ฉะนั้นต้องหลีกเลี่ยงการให้สินเชื่อที่ได้รับดอกเบี้ยสูง แต่มีการเสี่ยงภัยมาก ส่วนสถาบันการเงินที่มีเงินกองทุนสูง จะไม่เพียงแต่ให้สินเชื่อระยะยาวได้เท่านั้น ยังสามารถให้สินเชื่อได้หลากหลายประเภทด้วย
2. ความต้องการรายได้
รายได้เป็นสิ่งจำเป็นในการดำเนินกิจการ ทุกสถาบันการเงินถือว่ารายได้เป็นสิ่งสำคัญมากในการวางนโยบายสินเชื่อ สถาบันการเงินที่จำเป็นต้องหารายได้ อาจเพื่อขยายกิจการหรือเพื่อลบล้างผลขาดทุน หรือเพื่อวัตถุประสงค์อื่น อาจดำเนินนโยบายให้สินเชื่อที่มุ่งหารายได้มากกว่าสถาบันการเงินที่ไม่ถือว่ารายได้มีความสำคัญอย่างยิ่งยวด นโยบายการให้สินเชื่อที่มุ่งหวังรายได้อาจกระทำการให้สินเชื่อระยะยาวแก่บุคคล (Consumer loan) ซึ่งมักมีดอกเบี้ยสูงกว่าการให้สินเชื่อเพื่อการค้า (Business loan) ซึ่งมีระยะสั้น
นโยบายสินเชื่อที่มุ่งหวังรายได้เป็นสิ่งสำคัญ ทำให้จำเป็นต้องดำรงเงินสำรองในหลักทรัพย์ที่มีสภาพคล่องสูง หรือกำหนดเวลาของบัญชีเงินทุนในหลักทรัพย์ให้มีระยะสั้น และมีความเสี่ยงภัยน้อยกว่าปกติ
3. ความมั่นคงของเงินฝาก
การวางนโยบายการให้สินเชื่อ ต้องพิจารณาถึงการเปลี่ยนแปลงของเงินฝาก และประเภทของเงินฝากด้วย คือ เมื่อได้กันสำรองตามกฎหมายชั้น 1 และชั้น 2 ไว้แล้ว ก็สามารถนำเงินไปให้ปล่อยสินเชื่อได้ แม้ว่าสำรองทั้งสองจะกันไว้เผื่อการเปลี่ยนแปลงของเงินฝากและความต้องการสินเชื่อของลูกค้าแล้ว แต่อาจมีความต้องการที่ไม่อาจคาดการณ์ล่วงหน้าได้ ทำให้ต้องพิจารณาถึงความมั่นคงของเงินฝากในการวางนโยบายสินเชื่อ ฉะนั้น กรณีที่ประสบปัญหาเงินฝาก ลดลงหรือเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ ต้องมีนโยบายสินเชื่อที่ค่อนข้างระมัดระวังกว่ากรณีที่มีเงินฝากมั่นคงซึ่งมีเงินฝากเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ

4. สภาวะทางเศรษฐกิจ
สถานการณ์ทางเศรษฐกิจของท้องถิ่นที่ผู้ให้สินเชื่อตั้งอยู่ เป็นปัจจัยหนึ่งในการพิจารณาวางแผนนโยบายการให้สินเชื่อ ถ้ามีภาวะเศรษฐกิจมั่นคง อาจดำเนินนโยบายสินเชื่อได้โดยเสรีหรือไม่ต้องใช้ความระมัดระวังเท่ากับท้องถิ่นที่มีภาวะเศรษฐกิจเปลี่ยนแปลงตามฤดูกาล เพราะภาวะเศรษฐกิจที่ไม่มีการเคลื่อนไหวรุนแรงมาก จะทำให้สามารถพยากรณ์สถานการณ์ในอนาคตได้ชัดเจนกว่า
5. นโยบายทางการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทยและกระทรวงการคลัง
ถ้าธนาคารแห่งประเทศไทยไม่มีนโยบายควบคุมสินเชื่อ ธนาคารแห่งประเทศไทยจะไม่ลดหรือเพิ่มอัตราเงินสดสำรอง ธนาคารพาณิชย์จะสามารถดำเนินนโยบายการให้สินเชื่อได้โดยเสรี ในทำนองตรงข้ามหากธนาคารต้องการควบคุมสินเชื่อเพื่อยับยั้งภาวะเงินเฟ้อ ก็อาจเพิ่มอัตราเงินสดสำรอง เพื่อมิให้ธนาคารขยายสินเชื่อมากเกินไป ธนาคารพาณิชย์จะไม่สามารถดำเนินการให้สินเชื่อได้โดยเสรี
6. ความสามารถและความชำนาญของพนักงานสินเชื่อ
สิ่งที่ไม่ควรมองข้ามในการวางนโยบายการให้สินเชื่อคือ ความสามารถและความชำนาญของพนักงานให้สินเชื่อเป็นสำคัญ ฝ่ายสินเชื่อจะต้องมีความเข้าใจในธุรกิจแต่ละประเภทเพื่อให้ทราบว่า การดำเนินธุรกิจจะเป็นไปได้ด้วยดีและจะสามารถนำเงินมาชำระหนี้ได้หรือไม่ พนักงานที่มีความสามารถในการให้สินเชื่อแก่ธุรกิจบริการอาจไม่ชำนาญในการให้สินเชื่อแก่กิจการอุตสาหกรรม การวางนโยบายสินเชื่อต้องคำนึงถึงความพร้อมของบุคลากรทางด้านสินเชื่อ
อย่างไรก็ตามความไม่สามารถของพนักงานอาจแก้ไขได้โดยการให้การอบรม ให้มีความรู้เพิ่มมากขึ้นได้ แต่ก็ต้องคำนึงถึงค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรมด้วย
7. ฐานะการแข่งขัน
หากมีฐานะการแข่งขันอย่างรุนแรงกับสถาบันการเงินอื่น การกำหนดนโยบายควรหลีกเลี่ยงภาวะการแข่งขันให้มากที่สุด เช่น บริษัทการเงินทำหน้าที่ให้กู้ยืมเพื่อซื้อสินค้าผ่อนส่ง การที่จะมีนโยบายการให้กู้ยืมเพื่อการซื้อสินค้าผ่อนส่งจะทำให้ภาวะการแข่งขันรุนแรงขึ้น ในกรณีนี้ไม่ควรให้มีการกู้ยืมเพื่อซื้อสินค้าผ่อนส่งเป็นจำนวนมากนัก
8. ความต้องการสินเชื่อของท้องถิ่น
ความต้องการสินเชื่อของท้องถิ่น เป็นปัจจัยสำคัญมากประการหนึ่งที่ต้องนำมาพิจารณา ในท้องถิ่นที่มีความต้องการสินเชื่อมาก ควรดำเนินนโยบายสนองความต้องการของลูกค้า แต่ทั้งนี้ต้องคำนึงถือหลักการให้สินเชื่อโดยรอบคอบด้วย ในท้องถิ่นที่มีความต้องการสินเชื่อน้อยจนเอาเงินฝากไปใช้ไม่หมด อาจมีเงินเหลือเกินต้องการ ในระยะที่มีเงินเหลือถ้าเก็บไว้เฉยๆ จะไม่มีประโยชน์แต่อย่างใด จึงควรนำไปให้ลูกค้าอื่นนอกจากลูกค้าปกติกู้หรือนำเงินไปลงทุน หรือโอนเงินไปให้กู้อีกท้องถิ่นหนึ่งที่มีความต้องการมากกว่า กรณีที่มีสาขากระจายไปอย่างกว้างขวางจึงย่อมจะได้เปรียบคือสามารถโอนเงินจากท้องถิ่นหนึ่งไปทำประโยชน์ในอีกท้องถิ่นหนึ่งได้ดีกว่า

ส่วนประกอบของนโยบายในการให้สินเชื่อ

1. อำนาจในการอนุมัติ
2. พิธีการของสินเชื่อ
3. การวางเงื่อนไขและการจัดอันดับคุณภาพของลูกหนี้และการกำหนดวงเงิน
4. การกำหนดนโยบายการติดตามการให้สินเชื่อ
5. การกำหนดประเภทของสินเชื่อที่ควรให้และสินเชื่อที่ไม่ควรให้
6. การกำหนดอัตราดอกเบี้ย
7. การกำหนดหลักประกัน
8. การกำหนดระบบงานการให้สินเชื่อ
9. การกำหนดแนวทางการแก้ไขปัญหาลูกหนี้ที่อ่อนแกและมีปัญหาทางการเงิน

1. อำนาจในการอนุมัติให้สินเชื่อ จะมีการพิจารณาเป็นลำดับชั้น โดยกำหนดวงเงินหรือขอบเขตอำนาจไว้ ซึ่งจะแตกต่างกันออกไปตามโครงสร้างการบริหารของแต่ละสถาบันการเงิน ซึ่งการกำหนดอำนาจของเจ้าหน้าที่ในการอนุมัติเงินสินเชื่อขึ้นอยู่กับความสามารถและความชำนาญของเจ้าหน้าที่สินเชื่อเป็นสำคัญ การกำหนดวงเงินในการอนุมัตินี้ไม่ควรสูงหรือต่ำเกินไป ถ้าหากกำหนดวงเงินอนุมัติไว้ต่ำเกินไปจะทำให้เกิดผลเสีย คือ จะควบคุมการปล่อยสินเชื่อได้ยากเกินไป แต่ถ้ากำหนดวงเงินอนุมัติไว้สูงจนเกินไป ก็จะทำให้การดำเนินงานทางสินเชื่อล่าช้าและอาจสูญเสียลูกค้าที่ดีได้
2. พิธีการของสินเชื่อ เป็นขั้นตอนในการดำเนินการเกี่ยวกับทางกฎหมาย ซึ่งจะต้องอาศัยความรู้ประสบการณ์และคำแนะนำของบุคลากรด้านกฎหมายอย่างแน่นอน ซึ่งจะมีทั้งการรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับสถานะทางกฎหมาย การตรวจสอบหลักประกัน การทำนิติกรรม และการจัดเก็บ รวมทั้งการควบคุมข้อมูลและเอกสารสินเชื่อ
3. การวางเงื่อนไขและการจัดอันดับคุณภาพของลูกหนี้และการกำหนดวงเงิน ต้องมีการกำหนดเงื่อนไขและวงเงินสินเชื่อให้เหมาะสมกับขนาดของการดำเนินธุรกิจ รวมทั้งต้องมีการประเมินคุณภาพของลูกหนี้ เพื่อให้เกิดความเสี่ยงภัยน้อยที่สุด ควรมีการกำหนดนโยบายการให้สินเชื่อทั้งในด้านของขนาดวงเงินให้สินเชื่อโดยรวม และขนาดวงเงินให้สินเชื่อแก่ลูกหนี้แต่ละราย
ทางด้านวงเงินให้สินเชื่อรวม - ขึ้นอยู่กับสามารถและเงินกองทุนของผู้ให้สินเชื่อ โดยคำนึงถึงสภาพคล่องและภาวะการแข่งขันทาง
ด้านวงเงินให้สินเชื่อแต่ละราย - กำหนดวงเงินและระยะเวลาในการให้สินเชื่อ เป็นการตกลงร่วมกันระหว่างผู้ให้สินเชื่อและผู้ขอสินเชื่อ และควรจะมีการกระจายจำนวนเงินให้สินเชื่อแก่ธุรกิจหลายๆ ประเภท เพื่อป้องกันความเสี่ยงจากความล้มเหลวในการดำเนินธุรกิจ

4. การกำหนดนโยบายการติดตามให้สินเชื่อ ผู้ให้สินเชื่อควรมีการกำหนดนโยบายในการชำระหนี้คืนให้ชัดเจน เพื่อไม่ให้กระทบกระเทือนต่อสภาพคล่องทางการเงิน และเพิ่มอัตราความเสี่ยงในการได้รับการชำระหนี้ ซึ่งจะต้องมีการตกลงกับผู้ขอสินเชื่อถึงความสามารถในการชำระหนี้ตามกำหนดเวลาที่ได้ตกลงกันไว้ แต่ถ้าหากเกิดปัญหาที่ผู้ขอสินเชื่อไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามกำหนดแล้ว ก็จะต้องมีการกำหนดนโยบายการติดตามหนี้ว่าจะให้เป็นหน้าที่ของฝ่ายสินเชื่อหรืออาจจะเป็นผู้ชำนาญงานที่มีความสามารถในการติดตามและแก้ไขหนี้ที่มีปัญหาโดยเฉพาะ
5. การกำหนดประเภทของสินเชื่อที่ควรให้และสินเชื่อไม่ควรให้ จะต้องมีการกำหนดประเภทของสินเชื่อว่าจะให้กับธุรกิจประเภทใด ในขอบเขตและวงเงินมากน้อยเพียงใด ถ้าหากปล่อยสินเชื่อให้กับธุรกิจหลายๆ ประเภท ก็จะทำให้เกิดการพัฒนาต่อระบบเศรษฐกิจ แต่ถ้าหากปล่อยสินเชื่อเน้นหนักไปที่ธุรกิจใดธุรกิจหนึ่ง คือ มีสัดส่วนการให้สินเชื่อกับธุรกิจแต่ละประเภทไม่เหมาะสมแล้ว จะทำให้ผู้ให้สินเชื่อได้รับผลกระทบจากความเสี่ยงภัยในการไม่ได้รับชำระหนี้คืน หากธุรกิจนั้นๆ ดำเนินกิจการล้มเหลวหรือมีปัญหาในการจัดการ ดังนั้น การให้
สินเชื่อควรคำนึงถึงอัตราการเสี่ยงและโครงสร้างของการดำเนินงานของกิจการ ซึ่งอาจจะมีการกำหนดประเภทของสินเชื่อที่ต้องการให้สินเชื่อไว้ในนโยบายสินเชื่ออย่างชัดเจน ตลอดจนประเภทของสินเชื่อที่ไม่ต้องการให้กู้ยืม ซึ่งอาจจะเป็นเพราะไม่มีพนักงานที่มีความชำนาญในธุรกิจนั้นๆ หรือเป็นธุรกิจที่ไม่พึงประสงค์จะให้สินเชื่อก็ตาม
6. การกำหนดอัตราดอกเบี้ย ดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมเป็นรายได้หลักที่สำคัญ จึงควรที่จะต้องมีการพิจารณาอย่างละเอียดรอบคอบ ซึ่งจะต้องขึ้นอยู่กับประเภทของสินเชื่อ คุณภาพของผู้ขอสินเชื่อ ความเสี่ยงภัยในการไม่ได้รับชำระหนี้คืน สำหรับนโยบายในเรื่องอัตราดอกเบี้ยควรมีความยืดหยุ่นและให้อำนาจแก่พนักงานสินเชื่อในการพิจารณาเพิ่ม-ลดอัตราดอกเบี้ยได้ตามดุลยพินิจ ขึ้นอยู่กับต้นทุนของวงเงินให้สินเชื่อ
7. การกำหนดหลักประกัน นโยบายการให้สินเชื่อที่ดีควรระบุหลักประกันให้ชัดเจนเกี่ยวกับประเภทของหลักประกันว่า จะเป็นการค้ำประกันด้วยอสังหาริมทรัพย์ สังหาริมทรัพย์ หรือ บุคคลค้ำประกัน ฯลฯ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาในภายหน้าเกี่ยวกับประเภทของหลักประกัน นอกจากนี้ยังควรกำหนดส่วนต่างระหว่างมูลค่าที่แท้จริงของทรัพย์สินกับวงเงินให้สินเชื่อด้วย เช่น ให้วงเงินสินเชื่อไม่เกิน 80% ของมูลค่าอสังหาริมทรัพย์ หรือถ้าหากเป็นกรณีบุคคลค้ำประกันก็ควรมีการกำหนดมาตรฐานในเรื่องความสามารถในการชำระหนี้เพื่อความสะดวกในการพิจารณาการให้สินเชื่อ การกำหนดมาตรฐานในเรื่องความสามารถในการชำระหนี้เพื่อความสะดวกในการพิจารณาการให้สินเชื่อ
8. การกำหนดระบบงานการให้สินเชื่อ ต้องมีการกำหนดลักษณะความรับผิดชอบและอำนาจหน้าที่ให้ชัดเจน เพื่อให้สามารถดูแลผู้ขอสินเชื่อได้อย่างเหมาะสม และมีการติดตามการให้สินเชื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่กำหนด เพื่อเป็นแนวทางในการพิจารณาต่อไปให้ถูกต้องยิ่งขึ้น
9. การกำหนดแนวทางการแก้ไขปัญหาลูกหนี้ที่อ่อนแอและมีปัญหาทางการเงิน
ลูกหนี้ที่มีปัญหาทางการเงินต้องการที่จะให้สถาบันการเงินเอาใจใส่เพื่อให้สามารถดำเนินงานต่อไปได้ เพื่อความเจริญเติบโตในอนาคต จึงควรกำหนดนโยบายในรูปแบบของคำแนะนำเพื่อหาทางปรับปรุงการดำเนินงานเพื่อให้เกิดรายได้หรือประนีประนอมหนี้ที่มีปัญหา
นโยบายการให้สินเชื่อไม่ใช่ข้อบังคับ แต่เป็นการแนะแนวทางให้แก่ฝ่ายสินเชื่อ เพื่อให้การปฏิบัติงานและการบริหารงานทางด้านสินเชื่อเป็นไปอย่างเหมาะสม ถูกต้อง รวดเร็ว สอดคล้องกับความต้องการทั้ง 2 ฝ่าย คือ ทั้งผู้ให้สินเชื่อและผู้ขอสินเชื่อ ซึ่งเมื่อมีการวางและกำหนดนโยบายการให้สินเชื่อแล้วก็จะต้องมีการควบคุมในนโยบายนั้นๆ ด้วย โดยกำหนดให้มีผู้รับผิดชอบดูแลการปฏิบัติตามนโยบายที่กำหนดไว้พร้อมทั้งแนวทางในการปรับปรุงแก้ไข