การประเมินความเสี่ยงในสินเชื่อ

ความจำเป็นในการจำแนกประเภทของความเสี่ยง
เมื่อมีการรวบรวมข้อมูลต่างๆ ของลูกค้าเรียบร้อยแล้ว กิจการจะทำการกำหนดวงเงินและเงื่อนไขของสินเชื่อให้กับลูกค้า การกำหนดวงเงินและเงื่อนไขของสินเชื่อจะสะท้อนให้เห็นถึงระดับความเชื่อมั่นและความตั้งใจในการปฏิบัติตามข้อตกลงในสินเชื่อ สำหรับวงเงินสินเชื่อจะพิจารณาถึงเทอมในการชำระเงิน ซึ่งอาจจะมีการขยายวงเงินได้ตามความเหมาะสมของลูกค้าแต่ละราย ซึ่งอาจจะเกิดความขัดแย้งกันระหว่างการกำหนดวงเงินและการกำหนดเงื่อนไขของสินเชื่อได้ ดังนั้น การจำแนกประเภทของความเสี่ยงในสินเชื่อ จึงเป็นวิธีการที่ดีเพื่อให้สามารถกำหนดประเภทของลูกค้าได้

ความจำเป็นในการประเมินค่าความเสี่ยง
การตัดสินใจว่ากิจการมีการจัดการสินเชื่อดีเพียงใดนั้น ขึ้นอยู่กับการควบคุมสินเชื่อว่าสามารถเก็บเงินจากลูกหนี้ที่ค้างชำระได้นาน หรือการหลีกเลี่ยงหนี้สูญได้ แต่ต้องคำนึงถึงว่า
กิจการสามารถบรรลุผลตอบแทนจากการค้า ซึ่งก็คือ “กำไร (Profit)” สูงสุดด้วย ในสภาวะตลาดที่มีการแข่งขันรุนแรงในขณะนี้กิจการไม่สามารถระบุได้อย่างชัดเจนว่า ลูกค้าที่กิจการมีอยู่นั้น จะเป็นลูกค้าที่ดี (Safe Customer) ดังนั้นจึงเป็นบทบาทที่สำคัญของผู้จัดการสินเชื่อ (Credit Manager) ที่จะต้องมีการจำแนกประเภทของลูกค้าโดยพิจารณาถึงความเสี่ยงทางการเงินและผลขาดทุนในระดับที่กิจการยอมรับได้
การประเมินความเสี่ยงเป็นพื้นฐานที่สำคัญและจำเป็นในการกำหนดเทคนิคการเก็บเงินจากลูกหนี้ เจ้าหนี้ที่ขาดความรู้อย่างเพียงพอเกี่ยวกับความเสี่ยงในสินเชื่อก็ไม่สามารถติดต่อกับลูกหนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ถึงแม้ว่าจะมีประสบการณ์ทางการค้ามาเป็นเวลานานก็ตาม
นอกจากนี้ ก่อนที่จะเริ่มการค้าขาย กิจการควรที่จะมีการประเมินค่าความเสี่ยง เพื่อป้องกันปัญหาของการเก็บหนี้ที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต


บุคคลที่มีหน้าที่และความรับผิดชอบในการประเมินค่าความเสี่ยง
โดยทั่วไปแล้ว ส่วนใหญ่องค์กรฯ มักจะมอบหมายให้การประเมินค่าความเสี่ยงเป็นหน้าที่และความรับผิดชอบของฝ่ายขายหรือไม่ก็ฝ่ายการตลาด ในขณะที่หน้าที่ทางด้านสินเชื่อก็จะถูกกำหนดให้เป็นความรับผิดชอบของฝ่ายบัญชีไม่ว่าจะเป็นการเก็บหนี้ (Collection) หรือการหลีกเลี่ยงหนี้สูญ (Bad Debt)
เป็นที่น่าสังเกตว่า ตัวแทนฝ่ายขายหรือแม้กระทั่งผู้จัดการฝ่ายการตลาดไม่เหมาะสมที่จะรับหน้าที่ในการตรวจสอบด้านการเงิน เนื่องจากการประเมินผลงานของฝ่ายขายจะถูกวัดผลที่ปริมาณของธุรกิจที่เป็นลูกค้าโดยไม่มีการคำนึงถึงการเก็บเงิน ดังนั้น ความรับผิดชอบในการประเมินค่าความเสี่ยงจึงต้องตกเป็นหน้าที่ของผู้จัดการฝ่ายสินเชื่อไปโดยปริยาย ไม่ว่าจะเป็นการเก็บหนี้หรือการพิจารณาความเป็นไปได้ที่ลูกค้าจะล้มละลายซึ่งจะทำให้ธุรกิจไม่สามารถเก็บหนี้ได้ ความรับผิดชอบดังกล่าวนี้ควรจะเกิดขึ้นพร้อมๆ กัน (เป็นไปในแนวทางเดียวกัน) แต่ต้องคำนึงถึงความขัดแย้งที่อาจจะเกิดขึ้นได้ระหว่างฝ่ายขายและฝ่ายสินเชื่อ โดยส่วนใหญ่แล้วฝ่ายสินเชื่อมักจะประเมินความเสี่ยงของลูกค้าสูงเกินกว่าค่าเฉลี่ย (above Average Risk) ดังนั้น ฝ่ายสินเชื่อจะต้องเตรียมการและวางแผนร่วมกับฝ่ายการตลาด เพื่อตัดสินใจว่า ความต้องการของลูกค้าในลักษณะอย่างไรจึงจะเหมาะสมกับระดับความเสี่ยงทางการเงิน โดยใช้เกณฑ์มาตรฐานในการประเมินความเสี่ยง เช่น การวิเคราะห์ราคา (Price) การวิเคราะห์กำไร (Profit Margin) ความเหมาะสมของสินค้า (Product Availability) หรือแม้กระทั่งการแข่งขัน (Competition) การตัดสินใจและการประเมินความเสี่ยงจะเป็นส่วนสำคัญในการสะท้อนให้เห็นการตัดสินใจโดยรวมของธุรกิจที่พยายามประสานกันระหว่างฝ่ายขาย ฝ่ายผลิต ฝ่ายสินเชื่อ หรือฝ่ายต่างๆ ในองค์กร เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของกิจการก็คือ การเพิ่มกำไรตามเป้าหมาย
ความเสี่ยงในสินเชื่อ เป็นความไม่แน่นอนที่เกิดจากการขาดความเต็มใจ หรือขาดความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ ซึ่งสาเหตุทั้ง 2 ประการนี้ จะมีความสำคัญและเป็นส่วนประกอบหนึ่งที่ใช้ในการตัดสินใจระดับความเสี่ยงที่เกิดขึ้น ในการประเมินค่าความเสี่ยงในสินเชื่อ จะพิจารณาถึงปัจจัยสำคัญๆ ที่มีผลต่อความเต็มใจและความสามารถในการชำระหนี้ดังนี้ คือ
1. ปัจจัยทางด้าน 6 C’s
2. นโยบายของธุรกิจ
3. ทัศนคติของผู้มีอำนาจอนุมัติสินเชื่อ
4. ประเภทของความเสี่ยง


1. ปัจจัยทางด้าน 6 C’s จะกล่าวถึง 3 C แรกที่เกี่ยวข้องกับการประเมินค่าความเสี่ยง
- Character เป็นคุณสมบัติส่วนตัวของผู้ขอสินเชื่อ เพื่อแสดงออกให้เห็นถึงความตั้งใจในการชำระหนี้
ในกรณีบุคคลธรรมดา จะพิจารณาในเรื่องความรับผิดชอบ ลักษณะหน้าที่งาน ความซื่อสัตย์สุจริต โดยอาศัยข้อมูลจากประวัติการชำระหนี้ สถานภาพทางสังคม สถานภาพการสมรส ความมั่นคงของหน้าที่การงาน
ในกรณีนิติบุคคล จะพิจารณาในเรื่องอุปนิสัยของฝ่ายบริหาร ประวัติการชำระหนี้ นโยบายและวิธีการชำระหนี้
- Capacity เป็นความสามารถของผู้ขอสินเชื่อในการหารายได้มาเพื่อใช้จ่ายและเพื่อการชำระหนี้ จะพิจารณาจากรายได้หลัก ความสามารถในการหารายได้ในอนาคต ภาระหนี้สินที่มีอยู่ แบบแผนของการใช้จ่าย สุขภาพ
- Capital เป็นความมั่นคงทางการเงิน เป็นเสมือนเครื่องมือในการสร้างความอุ่นใจให้กับเจ้าหนี้ว่าถ้าหากไม่สามารถชำระหนี้ได้อันจะเป็นผลจากปัจจัยใดๆ ก็ตาม ผู้ให้สินเชื่อจะมีเงินทุนจำนวนนี้ของผู้ขอสินเชื่อเป็นเครื่องรองรับความเสี่ยงได้
2. นโยบายในการดำเนินธุรกิจ
การตัดสินใจดำเนินธุรกิจจะคำนึงถึงกำไรของกิจการรวมถึงสภาพการดำเนินงานของกิจการควบคู่กัน กิจการที่มีนโยบายเพิ่มยอดขายให้ได้รับกำไรมาก อาจยินดีจะรับความเสี่ยงได้มากกว่ากิจการที่มีนโยบายความระมัดระวัง
3. ทัศนคติหรือความคิดเห็นของผู้บริหารสินเชื่อ
ผู้บริหารสินเชื่อแต่ละรายให้ความสำคัญกับปัจจัยแต่ละตัวไม่เท่ากัน บางรายอาจพิจารณาฐานะการเงินเป็นสำคัญ บางรายอาจพิจารณาความเป็นไปได้และวิสัยทัศน์ในการดำเนินโครงการใหม่ก็ได้ ซึ่งจะส่งผลให้การประเมินค่าความเสี่ยงแตกต่างกัน
4. ประเภทของความเสี่ยง
ความเสี่ยงในสินเชื่อสามารถจัดออกได้เป็นหลายประเภท เช่น ความเสี่ยงทางการเงิน จะพิจารณาเงินทุนของผู้ขอสินเชื่อ (Capital) ความเสี่ยงทางธุรกิจจะพิจารณาความสามารถในการทำกำไรของกิจการ (Capacity) ความเสี่ยงทางศีลธรรม จะพิจารณาจากความรับผิดชอบในการเต็มใจชำระสินเชื่อ (Character)


วิธีการประเมินค่าความเสี่ยงในสินเชื่อ
เราสามารถแยกวิธีการประเมินความเสี่ยงในสินเชื่อออกได้เป็น 2 ลักษณะคือ
1. สมการสินเชื่อ – ทางด้านเชิงคุณภาพ 6 C’s
- ทางด้านตัวเลข (ให้คะแนนสำหรับแต่ละปัจจัย)
2. ความมั่นคงทางการเงินและการประเมินองค์ประกอบในสินเชื่อ

1. สมการสินเชื่อ
1.1 ระดับความสำคัญของ 6 C’s ในการพิจารณาความเสี่ยงทางสินเชื่อ
ในการวัดระดับความเสี่ยงทางสินเชื่อ เราต้องนำปัจจัยทั้ง 6 เข้ามาร่วมพิจารณา ซึ่งในการนี้ต้องกำหนดค่าความสำคัญของแต่ละ C ก่อนว่า จะมีน้ำหนักเหมือนหรือต่างกันมากน้อยเพียงใด C ตัวใดจะมีความสำคัญมากกว่า ก็ต่อเมื่อ C นั้นมีผลกระทบต่อความสามารถและความตั้งใจในการชำระหนี้สูงกว่า
การที่กิจการหนึ่งขาดความสามารถในการชำระหนี้ มิได้หมายความว่า กิจการนั้นไม่สามารถชำระหนี้ได้เลย เพียงแต่กิจการนั้นบกพร่องในความสามารถด้านนี้เท่านั้น ความบกพร่องเช่นว่านี้อาจเกิดกับ C ต่างๆ ได้ โดยมีน้ำหนักมากน้อยต่างกันไป
การจัดลำดับความสำคัญของ C ต่างๆ นั้น ต้องเข้าใจก่อนว่า แต่ละ C มีผลกระทบกระเทือนต่อการให้สินเชื่อและการเรียกเก็บหนี้เพียงใด ซึ่งได้กล่าวมาแล้วข้างต้นว่าการอนุมัติสินเชื่อทั้งในการขายเชือหรือให้กู้ยืมเงิน กระทำการโดยคาดคะเนว่าจะได้รับชำระหนี้ตามเงื่อนไขสินเชื่อที่ตกลงไว้ โดยผู้ให้สินเชื่อไม่มุ่งหวังที่จะรับสินค้าที่ขายเชื่อไปแล้วกลับคืนมา หรือก็ไม่มุ่งหวังที่จะยึดสินทรัพย์ที่ค้ำประกันสินเชื่อนี้โดยตรง ดังนั้นเงินทุนหรือหลักประกัน จึงมิใช่ปัจจัยที่สำคัญที่สุดในการอนุมัติสินเชื่อโดยทั่วไป จึงเห็นได้ว่า ความสามารถในการชำระหนี้ (capacity) มีความสำคัญกว่าเงินทุน (capital) และหลักประกัน (collateral)
ความสำคัญระหว่าง คุณสมบัติของลูกค้า (character) และความสามารถในการชำระหนี้ (capacity) C ใดจะมีความสำคัญกว่ากัน ในบางครั้งก็ก้ำกึ่งกัน ตัวอย่างเช่น ลูกค้า 2 คน
- ลูกค้ารายแรกมีความซื่อสัตย์ดี แต่บกพร่องในความสามารถที่จะชำระหนี้
- ลูกค้ารายที่สอง ขาดความซื่อสัตย์ แต่มีลู่ทางที่จะจ่ายชำระหนี้ได้ถ้าจะทำ
ผู้มีอำนาจอนุมัติสินเชื่อบางราย อาจจะเห็นว่าลูกค้ารายที่สองดีกว่า เพราะถึงแม้ว่าเขาจะมีเงิน จ่ายชำระได้ แต่ก็ไม่ยอมจ่ายให้นั้น ผู้ให้สินเชื่ออาจให้ทนายความเป็นผู้ทวงถามโดยอาศัยอำนาจกฎหมายบังคับ ก็ย่อมมีโอกาสได้รับชำระหนี้มา แต่ทั้งนี้เพื่อความปลอดภัยควรจะพิจารณาถึงความสำคัญของ capital ร่วมด้วยจึงจะได้ผลดียิ่งขึ้น หรืออาจจะเห็นว่าลูกค้ารายแรกนั้น แม้ว่าจะเป็นคนดี แต่ไม่สามารถหาเงินมาชำระหนี้ได้ จะทำอย่างไรก็ตามเขาก็ไม่สามารถชำระหนี้ได้ เว้นเสียแต่จะยืดระยะเวลาการชำระหนี้เพื่อให้โอกาสแก่เขาในการหาเงินมาชำระหนี้ในอนาคต ดังนั้น C ใดมีความสำคัญมากกว่ากัน ก็ขึ้นอยู่กับความคิดเห็นของผู้บริหารสินเชื่อ ตลอดจนเงื่อนไขประกอบอื่นๆ ด้วย
ถึงแม้ว่า คุณสมบัติของลูกค้าจะเป็นปัจจัยที่จะพิจารณาได้ยากก็ตาม แต่ก็มีความสำคัญมากที่สุดในการพิจารณาความเสี่ยงทางสินเชื่อ ซึ่งไม่เป็นการยากเกินไปที่จะสืบเสาะแยกว่าลูกค้าคนใดซื่อตรงหรือไม่ เป็นคนมัธยัสถ์ หรือสุรุ่ยสุร่าย ชอบดื่มสุรา เล่นการพนัน มีศีลธรรมหรือปราศจากศีลธรรม ในความเป็นจริง capacity และ capital อาจมีความหมายน้อยมากเมื่อลูกค้ามีเจตนาจะคดโกงหรือไม่รับผิดชอบ ซึ่งหากเป็นเช่นนี้ก็อาจไม่อนุมัติสินเชื่อให้ เพื่อหลีกเลี่ยงการบังคับคดีทางกฎหมาย ซึ่งจะทำให้ต้องมารับภาระในค่าใช้จ่ายนี้สูง อีกทั้งมีโอกาสที่หนี้จะสูญด้วย
อย่างไรก็ตาม ก็มีผู้โต้แย้งว่า ความสามารถในการชำระหนี้ควรเป็นปัจจัยที่สำคัญ ทั้งนี้เพราะ จากการวิจัยธุรกิจที่ให้สินเชื่อโดยการผ่อนชำระ สรุปได้ว่า อาชีพและความมั่นคงในรายได้เป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุด อันจะแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของความสามารถในการหารายได้ของลูกค้า และข้อสรุปนี้ก็ยังนำมาใช้ได้กับการอนุมัติสินเชื่อแบบเปิดบัญชีของลูกค้า ส่วนปัจจัยอันดับรองลงมาก็คือ ประวัติการชำระหนี้เท่าที่ผ่านมาของลูกค้า ดังนั้นจึงแสดงให้เห็นได้ว่า ในบางกรณีถึงแม้ว่าความสามารถในการชำระหนี้เป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุด คุณสมบัติของลูกค้าก็ยังมีความสำคัญทัดเทียมกันอีกด้วย
ส่วน condition นั้น หากมีการเปลี่ยนแปลง ก็จะมีผลต่อลักษณะการใช้จ่ายและการหารายได้ของลูกค้าได้เช่นกัน แต่โดยลำพังของตัวมันเองความสำคัญที่จะมีต่อการชำระหนี้นั้นมีน้อยกว่าความสามารถในการชำระหนี้ หรือคุณสมบัติของลูกค้า
ในกรณีที่การให้สินเชื่อ เกิดขึ้นภายในประเทศ ก็ไม่จำเป็นต้องพิจารณาถึง country ก็ได้ แต่ถ้าเป็นการให้สินเชื่อระหว่างประเทศก็จำเป็นต้องศึกษาถึง country ด้วย
สมการสินเชื่อสำหรับระดับความเสี่ยงต่างๆ กัน
จากความสำคัญของ C ต่างๆ ที่มีต่างกัน เราอาจพิจารณาจาก 3 C’s แรก (Character, Capacity และ Capital) ซึ่งถือว่ามีความสำคัญต่อการพิจารณาความเสี่ยง ดังสมการสินเชื่อดังนี้ คือ
สมการสินเชื่อ = character + capacity + capital
เพื่อประโยชน์ในการตัดสินใจ ก็อาจจะต้องกำหนด สมการมาตรฐานขั้นต่ำที่ต้องการ (cut-off point) ไว้ เพื่อจะได้เปรียบเทียบกับสมการที่เกิดขึ้นจริงว่าควรจะให้สินเชื่อได้หรือไม่ โดยการตัดสินใจขั้นสุดท้ายว่าจะให้สินเชื่อหรือไม่นั้นจะต้องมีการพินิจพิเคราะห์จากดุลยพินิจอีกครั้งร่วมด้วยดังแสดงออกมาเป็นสมการสินเชื่อได้ 10 ลักษณะ ดังนี้ คือ
ารางแสดงการพิจารณาความเสี่ยงจากสมการสินเชื่อ
การจัดระดับความเสี่ยงในสินเชื่อ
โดยใช้สมการสินเชื่อ


ความเสี่ยงในสินเชื่อ

ปัจจัยที่มีต่อความเสี่ยงในสินเชื่อ

CHARACTER

CAPACITY

CAPITAL

1. ดีมาก

*****

*****

*****

2. ใช้ได้

*****

*****

ไม่พอ

3. ใช้ได้

*****

ไม่พอ

*****

4. น่าสงสัย

ไม่พอ

*****

*****

5. มีข้อจำกัด

*****

*****

----

6. อันตราย

----

*****

*****

7. ค่อนข้างไม่ดี

*****

----

*****

8. ไม่ดีเห็นชัด

----

----

*****

9. ค่อนข้างไม่ดี

*****

----

----

10. ไม่น่าไว้ใจ

----

*****

----

1. + CHARACTER + CAPACITY + CAPITAL = GOOD Credit Risk
2. + CHARACTER + CAPACITY + CAPITAL (ไม่พอ) = FAIR Credit Risk
3. + CHARACTER + CAPACITY (ไม่พอ) + CAPITAL = FAIR Credit Risk
4. + CHARACTER (ไม่พอ) + CAPACITY + CAPITAL = Doubtful Credit Risk
5. + CHARACTER + CAPACITY – CAPITAL = Limited Success Credit Risk
6. - CHARACTER + CAPACITY + CAPITAL = Dangerous Credit Risk
7. + CHARACTER – CAPACITY + CAPITAL = Inferior Credit Risk
8. – CHARACTER – CAPACITY + CAPITAL = Inferior Credit Risk
9. + CHARACTER – CAPACITY – CAPITAL = Distinctly Poor Credit Risk
10. – CHARACTER + CAPACITY – CAPITAL = Fraudulent Credit Risk

1.2 วิธีการวัดระดับความเสี่ยงทางสินเชื่อโดยคะแนนจากสมการ
ในการวัดระดับความเสี่ยงทางสินเชื่อ จะต้องนำเอาปัจจัยทั้ง 6 ประการนี้มาพิจารณาร่วมกัน โดยอาจจะกำหนดว่าปัจจัยกลุ่มใดหรือ C ใด จะมีความสำคัญกว่ากันก็จะให้เปอร์เซ็นต์ในกลุ่มนั้นสูงกว่ากลุ่มอื่น เช่น
Character 30% capacity 25% capital 20% collateral 15% condition 10% country 0% (เพราะเป็นการค้าภายในประเทศ) รวมทั้งหมด 100% จาก % นี้ก็อาจปรับมาเป็นค่าคะแนน ถ้าคะแนนรวม 100% = 1,000 คะแนน ดังนั้นจะได้ character 300 คะแนน capacity 250 คะแนน capital 200 คะแนน collateral 150 คะแนน condition 100 คะแนน country 0 คะแนน
จากการกำหนดความสำคัญของแต่ละกลุ่มโดยแปลงออกมาในรูปของคะแนนแล้วขั้นต่อไปก็ศึกษาแต่ละกลุ่มของ C ซึ่งจะมีการรวบรวมข้อมูลรายละเอียดต่างๆ เป็นส่วนประกอบ ก็จะพิจารณาว่าส่วนประกอบใดควรจะได้กี่คะแนน มากหรือน้อยก็ขึ้นอยู่กับความสำคัญของส่วนประกอบนั้นว่ามีต่อ C กลุ่มนั้นมากหรือน้อย ถ้าสำคัญก็ให้คะแนนสูงแล้วลดหลั่นคะแนนลงไปตามความสำคัญที่มีน้อยลง เช่น
ประวัติการชำระหนี้ 80
ที่อยู่และภูมิลำเนา 60
ลักษณะของงานที่ทำ 50
ฐานะการสมรส 40
ฐานะทางสังคม 70
รวมคะแนนของ character 300
เมื่อกิจการสามารถแปลงค่าข้อมูลทางสินเชื่อแต่ละข้อออกมาเป็นคะแนนเต็มได้
ดังข้างต้น ทุกๆ กลุ่ม C แล้ว จากนั้นก็จะนำข้อมูลที่รวบรวมได้จากลูกค้าแต่ละคนมาให้คะแนนแต่ละข้อว่าจะได้สูงหรือต่ำก็โดยการเทียบเคียงกับคะแนนเต็มในข้อนั้นๆ ในการนี้ก็อาจมีการกำหนดคะแนนมาตรฐานในแต่ละข้อไว้ว่าถ้าตอบเช่นนั้น ได้กี่คะแนน ตอบเช่นนี้ ได้กี่คะแนน เพื่อขจัดความลำเอียงในการให้คะแนน เช่น รายได้ประจำ โดยปกติ บุคคลที่มีรายได้สูง ย่อมมีคุณค่าทางสินเชื่อดีกว่า ผู้มีรายได้ต่ำ จึงอาจกำหนดว่า รายได้ทุกๆ 1,000 บาท มีค่า 5 คะแนน ถ้าหากนาย ก. มีรายได้ 6,000 บาท ก็จะได้คะแนนรายได้ประจำ = 6 ´ 5 = 30 จากคะแนนเต็ม 50
ดังนั้น จากแต่ละข้อมูลซึ่งเป็นส่วนประกอบของ C หนึ่งๆ ที่กำหนดคะแนนเต็มไว้และมีการให้คะแนนแก่ลูกค้ารายหนึ่งเรียบร้อยแล้ว ก็จะรวมคะแนนในแต่ละกลุ่ม C พร้อมทั้งคะแนนรวมทั้งหมดทุก C ของลูกค้ารายนั้น จากนี้ก็จะนำคะแนนไปพิจารณาโดยอาจต้องใช้วิจารณญาณประกอบว่า ในระดับคะแนนสูงเท่าไร จึงจะถือว่าลูกค้ามีคุณค่าทางสินเชื่อควรแก่การให้สินเชื่อ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับนโยบายสินเชื่อในขณะนั้นว่า ต้องการจะขยายหรือลดจำนวนสินเชื่อ หากต้องการลดสินเชื่อก็พยายามเลือกลูกค้าที่มีคุณค่าทางสินเชื่อสูงหรือมีความเสี่ยงต่ำ คะแนนรวมมาตรฐานขั้นต่ำที่จะยอมรับได้ (cut-off point) ก็จะกำหนดไว้สูง แต่ถ้านโยบายต้องการขยายสินเชื่อก็ไม่จำเป็นต้องเลือกเฟ้นลูกค้าที่มีคุณค่าทางสินเชื่อสูงนัก คะแนนรวมที่เป็น cut-off point ก็จะกำหนดไว้ต่ำ
ตัวอย่างเช่น


C

ข้อมูล

คะแนนเต็ม

คะแนน – นายธงชัย

Character

ประวัติการชำระหนี้

80

50

 

ที่อยู่และภูมิลำเนา

60

35

 

ลักษณะของงานที่ทำ

50

35

 

ฐานะการสมรส

40

40

 

ฐานะทางสังคม

70

40

 

 

300

180

Capacity

เงินเดือน

50

30

 

ลักษณะงานที่ทำ

30

20

 

สุขภาพ

40

25

 

ความมั่นคงของสถานที่ทำงาน

30

20

 

ความคิดสร้างสรรค์

30

20

 

จำนวนหนี้สิน

30

10

 

ฐานะการสมรสและขนาดครอบครัว

20

10

 

ระดับการครองชีพ

30

15

 

 

250

150

Capital

สินทรัพย์ที่ซื้อมา

70

40

 

สินทรัพย์ประจำตัวและเงิน

50

30

 

กรรมสิทธิในสินทรัพย์ถาวร

80

60

 

 

200

130


 

C

ข้อมูล

คะแนนเต็ม

คะแนน – นายธงชัย

Collateral

สินทรัพย์ถาวร

90

70

 

บุคคล

60

40

 

 

150

110

Condition

การเมือง

20

10

 

เศรษฐกิจ

40

25

 

สังคม

40

30

 

 

100

65

 

 

1,000

635

ถ้ากำหนด Cut-off point 750 คะแนน ก็จะปฏิเสธการให้สินเชื่อแก่นายธงชัย
ถ้ากำหนด Cut-off point 600 คะแนน ก็จะให้สินเชื่อแก่ นายธงชัย
การกำหนด Cut-off point นอกจากวิธีข้างต้นที่กำหนดจากยอดรวมของทุกปัจจัย อันอาจมีข้อบกพร่องขึ้นได้ ทั้งนี้เพราะยอดรวมเป็นการแสดงให้เห็นถึงยอดเฉลี่ยของปัจจัยทั้งหมด แต่มิได้ให้รายละเอียดว่า ลูกค้ามีความดีเลิศ มีข้อบกพร่อง หรืออยู่ในระดับกลางๆ ในแต่ละปัจจัยเพียงใด ดังนั้นหากต้องการทราบถึงรายละเอียดนี้ cut-off point ที่กำหนดก็อาจจะต้องกำหนดทั้งยอดรวมในแต่ละ C และยอดรวมทุก C ด้วยแล้วจึงนำคะแนนดังกล่าวของลูกค้าที่เกิดขึ้นจริง มาเปรียบเทียบ ถ้าคะแนนได้ค่ามากกว่า หรือเท่ากับ cut-off point ก็จะรับลูกค้านี้ไว้พินิจพิจารณาในขั้นสุดท้ายด้วยวิจารณญาณต่อไปว่าควรให้สินเชื่อหรือไม่ หรือจะให้สินเชื่อโดยไม่มีเงื่อนไข ตัวอย่างเช่น

ปัจจัย

คะแนนเต็ม

Cut-off point

คะแนนนายธงชัย

สูงหรือ (ต่ำ) กว่า cut-off

Character

300

225

180

-45

Capacity

250

185

150

-35

Capital

200

150

130

-20

Collateral

150

115

110

-5

Condition

100

75

65

-10

 

1,000

750

635

-115

ในกรณีเช่นนี้ จะเห็นว่าปัจจัยทุกตัวของนายธงชัย ต่ำกว่าที่ต้องการ และต่ำกว่าด้วยคะแนนที่มากพอควร จึงควรปฏิเสธสินเชื่อ
แต่ถ้าการเปรียบเทียบมีบาง C ต่ำ และต่ำกว่าไม่มาก โดยเฉพาะเป็น C ที่สำคัญน้อยด้วย ก็อาจให้สินเชื่อโดยมีเงื่อนไขที่จะสร้างความปลอดภัยในการชำระหนี้ให้กับกิจการมากขึ้น
สรุป ขั้นตอนของการวัดระดับความเสี่ยงโดยคะแนนข้างต้น มีลำดับขั้นตอน ดังนี้
ขั้นที่ 1. กำหนดคะแนนรวมให้แต่ละปัจจัยมากน้อยไปตามความสำคัญที่จะมีต่อความสามารถและความเต็มใจในการชำระหนี้
ขั้นที่ 2. กำหนดคะแนนเต็มให้แต่ละข้อมูลในปัจจัยหนึ่งๆ ซึ่งจะมากน้อยไปตามความสำคัญที่จะมีต่อปัจจัยนั้นๆ
ขั้นที่ 3. แปลงค่าข้อมูลที่รวบรวมมาจากลูกค้ารายหนึ่งๆ ให้เป็นคะแนน โดยอาจใช้วิจารณญาณเทียบกับคะแนนเต็มของแต่ละข้อมูล หรืออาจกำหนดลักษณะคุณภาพข้อมูลเป็นระดับๆ ไว้เป็นคะแนน เช่น 5 คะแนน สำหรับทุกๆ 1,000 บาท ของรายได้
ขั้นที่ 4. กำหนด Cut-off point เป็นคะแนน สำหรับแต่ละปัจจัย
ขั้นที่ 5. เปรียบเทียบคะแนนแต่ละปัจจัยหรือคะแนนรวมทุกปัจจัยของลูกค้ากับของ cut-off point
ขั้นที่ 6. ผลการเปรียบเทียบ ถ้าได้สูงกว่า Cut-off point ก็มีโอกาสอนุมัติสินเชื่อให้ได้ แต่ถ้าต่ำกว่าบางปัจจัยและไม่มาก ก็อาจให้สินเชื่อโดยมีเงื่อนไข แต่ถ้าต่ำกว่าทุกปัจจัยและด้วยจำนวนมาก ก็จะปฏิเสธให้สินเชื่อ

2. ความมั่นคงทางการเงินและการประเมินองค์ประกอบในสินเชื่อ
ความมั่นคงทางการเงิน หมายถึง การกำหนดระดับเงินทุนโดยประมาณ ซึ่งได้จากการประมาณมูลค่าของทุนสุทธิ โดยระดับเงินทุนแบ่งออกเป็นส่วนๆ ตั้งแต่จำนวนที่ต่ำสุดจนถึงจำนวนที่สูงที่สุด
การประเมินองค์ประกอบในสินเชื่อ หมายถึง ความน่าเชื่อถือในสินเชื่อตามที่ได้ประเมินจากสมการสินเชื่อ โดยพิจารณาจากการตรวจสอบการชำระเงิน ความสามารถในการดำเนินธุรกิจ อุปนิสัยส่วนตัว ฯลฯ


ตารางแสดงการจัดระดับความเสี่ยงในสินเชื่อโดยใช้
“ความน่าเชื่อในสินเชื่อและระดับเงินทุนโดยประมาณ”


การกำหนดระดับเงินทุนโดยประมาณ

ความน่าเชื่อถือในสินเชื่อ

ดีมาก

ดี

พอใช้

จำกัด

เงินทุน > 10 ล้านบาท

A1

1

1 ½

2

เงินทุน 7.5<…<10 ล้านบาท

A1

1

1 ½

2

เงินทุน 5<…<7.5 ล้านบาท

A1

1

1 ½

2

เงินทุน 3<…<5 ล้านบาท

1

1 1/2

2

2 1/2

เงินทุน 2<…<3 ล้านบาท

1

1 1/2

2

2 1/2

เงินทุน 1.25<…<2 ล้านบาท

1

1 1/2

2

2 1/2

เงินทุน 0.75<…<1.25 ล้านบาท

1 1/2

2

2 ½

3

ความหมายของระดับความเสี่ยงในสินเชื่อ
ระดับความเสี่ยงของสินเชื่อดีมาก แสดงว่าธุรกิจนั้นได้ก่อตัวมาระยะหนึ่งแล้ว ประวัติการดำเนินงานดีมาก ที่ผ่านมากิจการมักจ่ายชำระหนี้โดยได้รับส่วนลดเงินสดเสมอ ได้รับความเชื่อถือเป็นอย่างดีจากธุรกิจอื่นๆ
ระดับความเสี่ยงของสินเชื่อดี แสดงว่า ธุรกิจจ่ายชำระหนี้สินภายในกำหนดเวลาและมี
คุณสมบัติด้านอื่นๆ ใช้ได้
ระดับความเสี่ยงพอใช้ กิจการนั้นอาจชำระเงินช้าบ้าง แต่มีฐานะการเงินใช้ได้ แนวโน้มการดำเนินงานเป็นที่น่าพอใจ (อนาคตจะดีขึ้น)
ระดับความเสี่ยงจำกัด กิจการมีความเสี่ยงในการจ่ายชำระหนี้สิน โดยมักจะชำระช้ากว่ากำหนด

การจำแนกประเภทของความเสี่ยงในสินเชื่อ
เพื่อให้ระบบงานทางด้านสินเชื่อมีประสิทธิภาพ กิจการจำเป็นที่จะต้องมีการจำแนกความเสี่ยงในสินเชื่อ แต่โดยส่วนใหญ่ มักจะเกิดข้อขัดแย้งระหว่างระดับชั้นของการจำแนกประเภทสินเชื่อ
การจำแนกประเภทของความเสี่ยงในสินเชื่อ สามารถแบ่งได้เป็น 5 ประเภท ดังนี้คือ
ประเภทที่ 1 ความเสี่ยงในสินเชื่อเป็นศูนย์ (Zero Risk) ระดับ “A” หรือ “1”
ประเภทที่ 2 ความเสี่ยงในสินเชื่อเป็นปกติ (Ordinary Trade Risk) ระดับ “B” หรือ “2”
ประเภทที่ 3 ความเสี่ยงในสินเชื่อที่มีโอกาสจะเป็นหนี้ที่ชำระล่าช้า (Potentially slow Payer) ระดับ “C” หรือ “3”
ประเภทที่ 4 ความเสี่ยงในสินเชื่อระดับสูง (Significant or High Risk) ระดับ “D” หรือ “4”
ประเภทที่ 5 ความเสี่ยงในสินเชื่อสูงมาก (Unacceptable Risk) ระดับ “E” หรือ “5”
ในทางปฏิบัติ กิจการมักจะมีการจำแนกความเสี่ยงในสินเชื่อออกเป็นระดับต่างๆ ดังกล่าวข้างต้น ซึ่งอาจจะน้อยกว่านี้แต่ไม่เกินกว่านี้ หมายความว่า การจำแนกประเภทความเสี่ยงในสินเชื่อ จะอยู่ในช่วง 3 ประเภท (ต่ำสุด) และ 5 ประเภท (สูงสุด) ซึ่งการจำแนกประเภทความเสี่ยงในสินเชื่อออกเป็น 3 ประเภท จะกำหนดได้ดังนี้
ประเภทที่ 1 ความเสี่ยงต่ำ เป็นการรวมความเสี่ยงประเภทที่ 1 และ 2 ข้างต้น
ประเภทที่ 2 ความเสี่ยงปานกลาง เป็นการรวมความเสี่ยงประเภทที่ 3 และ 4 ข้างต้น
ประเภทที่ 3 ความเสี่ยงสูงมาก เป็นความเสี่ยงประเภทที่ 5 (ยอมรับไม่ได้) ต้องชำระเป็นเงินสดเท่านั้น

ประเภท 1 ระดับ A (Zero Risk)
ธุรกิจที่ได้รับการจัดระดับขั้นของความเสี่ยงระดับ A ได้แก่
1. หน่วยงานรัฐบาล เทศบาล
2. รัฐวิสาหกิจ
3. องค์กรสาธารณะ มูลนิธิ
4. สถาบันการศึกษาของรัฐบาล
5. โรงพยาบาล
6. หน่วยงานในการวิจัยและพัฒนา
7. บริษัทหรือหน่วยงานเอกชนที่มีความเข้มแข็งทางการเงิน (ความมั่นคงทางการเงิน) และไม่มีความเสี่ยงในการจ่ายชำระหนี้คืนหรือการชำระหนี้ล่าช้า
หมายเหตุ : ธุรกิจหรือหน่วยงานที่ถือหุ้นหรือมีส่วนร่วมในกิจการของภาครัฐบาล ก็จำเป็นต้องมีการจัดระดับชั้นของความเสี่ยง รวมทั้งมีการประเมินความเสี่ยงตามเกณฑ์มาตรฐานโดยทั่วไปด้วย


ประเภท 2 ระดับ B (Ordinary Trade Risk)
ธุรกิจที่มีการจัดระดับชั้นแบบ B นี้ ส่วนใหญ่มักจะเป็นธุรกิจหรือกิจการที่มีชื่อเสียงในวงการค้าเป็นอย่างดี รวมทั้งมีสถานะทางการเงินอยู่ในระดับดี ไม่เคยมีประวัติด่างพร้อยหรือมีปัญหาในการชำระเงินล่าช้ากับเจ้าหนี้เลย
ประเภท 3 ระดับ C (Potentially Slow Payer)
มักจะเป็นธุรกิจหรือกิจการที่มีความน่าเชื่อถือทางการเงิน แต่มีประวัติในการชำระล่าช้า การจัดอันดับความเสี่ยงประเภทนี้มักจะคาดหวังว่าธุรกิจหรือกิจการที่ได้รับการขยายวงเงินสินเชื่อจากเจ้าหนี้รายหนึ่งจะสามารถปฏิบัติกับเจ้าหนี้รายอื่นๆ ได้ในทิศทางที่ใกล้เคียงกัน โดยจะให้โอกาสกับธุรกิจที่จะเริ่มต้นแนวโน้มการชำระหนี้ใหม่
ประเภท 4 ระดับ D (Significant or High Risk)
ธุรกิจที่มีความไม่มั่นคงและความไม่แน่นอนทางการเงิน หรือเป็นธุรกิจที่เจ้าหนี้ระแวงหรือสงสัยเกี่ยวกับสถานะทางการเงินของกิจการ ส่วนใหญ่มักจะเป็นธุรกิจที่มีแนวโน้มของหนี้สูญค่อนข้างมาก และมีแนวโน้มจะเพิ่มสูงขึ้นอีกด้วย ส่วนใหญ่มักจะพิจารณาจากกระบวนการ
ควบคุมและติดตามหนี้ของกิจการ เนื่องจากในทางปฏิบัติธุรกิจที่มีลักษณะเช่นนี้เห็นได้ไม่ค่อยชัดเจนเท่าใดนัก
ประเภท 5 ระดับ E (Unacceptable Risk)
เป็นธุรกิจหรือกิจการที่มีความอ่อนแอทางการเงินในระดับสูง จึงจำเป็นที่จะต้องใช้วิธีการชำระเงินล่วงหน้า หรือชำระค่าสินค้าเป็นเงินสดเพียงอย่างเดียวเท่านั้น
เป็นที่น่าสังเกตว่าในปัจจุบันมีระบบการประเมินความเสี่ยงและคุณค่าในสินเชื่อในรูปแบบของระบบเครดิตสกอริ่ง (Credit Scoring System) ซึ่งเป็นที่นิยมใช้ค่อนข้างมากสำหรับสถาบันการเงิน จึงขอกล่าวถึงการศึกษาระบบเครดิตสกอริ่งมาให้พอเข้าใจ

ระบบเครดิตสกอริ่ง (Credit Scoring Systme)
เป็นระบบงานที่มีการให้คะแนนกับลูกค้าแต่ละรายที่มาขอสินเชื่อจากสถาบันการเงิน และมีการประเมินผลเพื่อจัดอันดับหรือเกรดของลูกค้า สินเชื่อจากลูกค้าคุณภาพดีหรือผู้ที่มีคะแนนดีที่สุดมาสู่ลูกค้าที่มีฐานะแย่หรือมีคะแนนต่ำ ทั้งนี้เพื่อช่วยให้งานการพิจารณาให้สินเชื่อแก่ลูกค้ารายย่อยของสถาบันการเงินโดยเฉพาะธนาคารพาณิชย์เป็นไปด้วยความราบรื่นขึ้นเพราะระบบนี้จะสร้างฐานข้อมูลของลูกค้าไว้เป็นบรรทัดฐานเดียวกัน ซึ่งจะทำให้การพิจารณาประเมินความเสี่ยงของลูกค้าและการปล่อยสินเชื่อให้กับลูกค้าของธนาคารเป็นไปในแนวทางเดียวกัน นอกจากนี้ยังมีประโยชน์ต่อการวิเคราะห์ทางการตลาดเป็นอย่างมาก เนื่องจากข้อมูลเกี่ยวกับลูกค้าจะสามารถสั่งคำนวณออกมาจากระบบนี้ได้ ซึ่งจะทำให้ธนาคารพาณิชย์สามารถเจาะลูกค้าได้ตรงและชัดเจนมากขึ้น อันเป็นการช่วยลดภาระงานด้านสินเชื่อบุคคลและเปิดโอกาสให้สาขาของธนาคารพาณิชย์หันไปทำหน้าที่ทางด้านการตลาดได้อย่างเต็มที่มากขึ้น นอกจากนี้ ยังเป็นการสร้างวินัยให้กับลูกค้าในอีกทางหนึ่งด้วย
แนวคิดเกี่ยวกับการนำระบบเครดิตสกอริ่งมาช่วยในการอนุมัติสินเชื่อ
แนวคิดในการสนับสนุนการนำระบบเครดิตสกอริ่งมาใช้ในงานการพิจารณาสินเชื่อนั้น เกิดจากความเชื่อที่ว่า การบริหารความเสี่ยงของสถาบันการเงิน โดยเฉพาะอย่างยิ่งธนาคารพาณิชย์ในภูมิภาคเอเชียในอดีตไม่ได้รับความสำคัญเท่าที่ควร ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ก่อให้เกิดวิกฤติเศรษฐกิจ ปัญหาหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้หรือ NPL ที่เกิดขึ้นโดยปราศจากการควบคุมที่ดีพอ จึงสามารถนำภัยมาสู่ธุรกิจและเศรษฐกิจของประเทศอย่างมหันต์ได้ สภาวะเศรษฐกิจใน
ภูมิภาคที่เริ่มผงกหัวขึ้นและเชื่อมโยงไปสู่การฟื้นตัวของธุรกิจและอุตสาหกรรมประเภทต่างๆ หากสถาบันการเงินได้ซึมซับบทเรียนจากอดีตประกอบกับการได้รับการสนับสนุนจากนโยบายของภาครัฐที่ให้สถาบันการเงินปล่อยสินเชื่อมากขึ้นเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจก็น่าจะมีเครื่องมือบริหารความเสี่ยงที่เป็นทั้ง Monitor และนักพยากรณ์ที่แม่นยำในการทำนายพฤติกรรมและความเสี่ยงในอนาคตจากการให้สินเชื่อแก่ลูกค้าแต่ละรายที่ยื่นคำขอได้ ซึ่งระบบเครดิตสกอริ่งเป็นเทคนิคที่มีคุณสมบัติดังกล่าวและได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายในประเทศตะวันตก หากแต่ค่อนข้างใช้ในวงจำกัดเฉพาะอย่างยิ่งประเทศในแถบเอเชีย อย่างไรก็ตามในอนาคตอันใกล้นี้ คาดว่าระบบนี้จะถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลายมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการให้บริการแก่ลูกค้ารายย่อย (Retail Banking) เพื่อตอบสนองพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปภายใต้สภาวะแวดล้อมใหม่ ซึ่งไม่เพียงแต่จะขีดวงจำกัดใช้เฉพาะแวดวงธนาคารพาณิชย์ไทยและในภูมิภาคเท่านั้น หากยังรวมถึงสถาบันการเงินประเภทอื่น เช่น บริษัทเงินทุนบริษัทหลักทรัพย์และบริษัทประกันชีวิตด้วย
การประเมินคุณภาพของลูกค้าสินเชื่อ
โดยปกติการพิจารณาอนุมัติสินเชื่อของสถาบันการเงิน จะไม่มีการจัดอันดับบุคคลเป็นลำดับขั้นแต่จะมีข้อมูลที่ระบุให้ทราบถึงแบบแผนพฤติกรรมการขอสินเชื่อและจ่ายคืนสินเชื่อของลูกค้าที่ผ่านมาในอดีตเป็นหลัก ซึ่งทำให้การตัดสินใจในการพิจารณาอนุมัติสินเชื่อให้กับลูกค้าแต่ละรายส่วนหนึ่งขึ้นอยู่กับวิจารณญาณส่วนบุคคล (Value Judgement) ของเจ้าหน้าที่สินเชื่อด้วย ประเด็นนี้จึงค่อนข้างจะมีความสำคัญกับตลาดสินเชื่อส่วนบุคคล เพราะไม่สามารถวัดความสามารถในการชำระหนี้ของลูกค้าได้อย่างแม่นยำ แต่ในอนาคตอันใกล้นี้ การประเมินฐานะคุณภาพของลูกค้าสินเชื่อด้วยระบบเครดิตสกอริ่งนั้นจะทำให้การตัดสินใจอนุมัติสินเชื่อขึ้นอยู่กับแนวทางการพยากรณ์ฐานะและแนวทางการบริหารสินเชื่อที่เป็นการจัดคะแนนและเรียงลำดับจากมากไปหาน้อยของลูกค้าสินเชื่อที่แท้จริง คะแนนรวม (Score) ที่ได้จากโปรแกรมคอมพิวเตอร์จะแสดงถึงการวัดค่าความเสี่ยงที่ต่อเนื่องไปในอนาคตและสามารถนำไปจัดเรียงกับคะแนนของลูกค้าที่มาขอสินเชื่อรายอื่นๆ จากคะแนนรวมสูงสุดมาสู่คะแนนรวมต่ำสุด คะแนนรวมที่สูงกว่าจะแสดงถึงความเสี่ยงที่ต่ำกว่า ส่วนคะแนนรวมที่ต่ำกว่าจะแสดงถึงระดับความเสี่ยงที่สูงกว่า หลังจากนั้นผู้ที่ทำการประเมินผลก็จะนำเอาคะแนนรวมที่ได้จากการคำนวณตามข้อมูลใน Application (แบบฟอร์มใบคำขอสินเชื่อที่มีลักษณะเฉพาะเป็นบรรทัดฐานที่ใช้ในการประเมิน มีการกำหนดคะแนนของการตอบแบบใบคำขอในแต่ละประเด็นซึ่งอาจจะให้คะแนนเท่ากันหรือแตกต่างกันก็ได้ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการให้น้ำหนักหรือความสำคัญของประเด็นนั้นๆ ต่อการวัดระดับความเสี่ยงในการให้สินเชื่อ) ไปเปรียบเทียบกับคะแนนมาตรฐาน (Cut-off score) ที่กำหนดไว้เพื่อตัดสินใจในเบื้องต้นว่าคุณภาพของลูกค้าสินเชื่อรายนั้นผ่านระดับที่ยอมรับได้หรือไม่ หากคะแนนรวมจากการคำนวณต่ำกว่าคะแนนมาตรฐาน ธนาคารก็สามารถปฏิเสธการให้สินเชื่อแก่ลูกค้ารายนั้นได้
ประโยชน์ของระบบเครดิตสกอริ่ง
ประโยชน์ที่ได้รับจากการนำเทคนิค Credit Scoring System มาใช้ คาดว่าจะประกอบด้วย
1. ช่วยลดขั้นตอนการอำนวยสินเชื่อและการอนุมัติสินเชื่อ ซึ่งเป็นขั้นตอนต่อไปจากขั้นตอนการประเมินลูกค้าเบื้องต้นจากแบบฟอร์มใบคำขอสินเชื่อ อันถือเป็นการช่วยลดระยะเวลาในการทำงาน เพราะแบบฟอร์มใบคำขอสินเชื่อของลูกค้ารายใดที่มีคะแนนรวมสูงสุดหรือเท่ากับความเสี่ยงต่ำสุด ถือได้ว่าเป็นลูกค้าคุณภาพดีเยี่ยมที่เข้าข่ายตามเงื่อนไขหรือหลักเกณฑ์ที่สถาบันการเงินนั้นได้กำหนดไว้ก่อนการประเมินผล ในกรณีนี้อาจจะทำการอนุมัติสินเชื่อโดยอัตโนมัติ ส่วนลูกค้าสินเชื่อที่มีคะแนนรวมรองลงมาจะต้องผ่านขั้นตอนการวิเคราะห์สินเชื่อและการอำนวยสินเชื่อก่อนที่จะนำเสนอสู่การตัดสินใจยอมรับหรือปฏิเสธลูกค้าสินเชื่อรายนั้นๆ ต่อไป
2. ช่วยลดความสูญเสียจากภาระหนี้เสียที่อาจเกิดขึ้น ระบบเครดิตสกอริ่งจะช่วยในการประเมินผลเพื่อจัดอันดับคุณภาพของลูกค้าสินเชื่อ ทำให้สถาบันการเงินซึ่งเป็นผู้ให้สินเชื่อทราบถึงสถานการณ์ทางการเงินของผู้ขอสินเชื่อว่ามีระดับความเสี่ยงอย่างไร ส่งผลให้สถาบันผู้ให้สินเชื่อจะสามารถเห็นภาพการกู้ยืมของผู้ขอสินเชื่อได้ทั้งหมด และสามารถประเมินความเสี่ยงของผู้ขอสินเชื่อแต่ละรายได้ ขณะเดียวกันก็มีส่วนช่วยลดความลำเอียงในทางที่ให้ความช่วยเหลือเป็นพิเศษแก่ลูกค้าสินเชื่อหรือประเมินความเสี่ยงของลูกค้าในทางที่ต่ำกว่าความเป็นจริงของเจ้าหน้าที่สินเชื่อด้วย ทำให้เจ้าหน้าที่สินเชื่อสามารถสร้างมูลค่าเพิ่ม (Value-Added) แก่องค์กรได้สูงสุด ระบบเครดิตสกอริ่งจึงช่วยป้องกันความสูญเสียจากภาระหนี้เสียที่อาจจะเกิดขึ้นได้
3. เสริมการประมวลผลข้อมูลด้าน Consumer Credit แก่เครดิตบูโร (Credit Bureau) หรือบริษัทศูนย์ข้อมูลเครดิตแห่งประเทศไทย เพราะเครดิตบูโรไม่ได้มีหน้าที่อนุมัติ (Approved) หรือปฏิเสธการให้เครดิตแก่ลูกค้า (Rejected) แต่มีหน้าที่เพียงรายงานข้อมูลที่ได้จากสถาบันการเงินที่เป็นสมาชิกเท่านั้น การเสริมข้อมูลแก่เครดิตบูโรจะช่วยลดความเสี่ยงให้กับระบบสถาบันการเงินได้มากขึ้น และในระยะยาวจะเป็นการสร้างวัฒนธรรมให้ลูกค้าชำระหนี้ได้ตามกำหนดเวลา เพราะลูกค้าที่มีประวัติการเงินไม่ดีจะไม่สามารถขอกู้เงินจากสถาบันการเงินอื่นได้ ขณะที่ลูกหนี้ที่มีประวัติการชำระหนี้ที่ดีก็จะได้รับการตอบแทนทั้งในแง่ของการพิจารณาสินเชื่อที่สะดวกรวดเร็วขึ้น และอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำลง ทำให้สถาบันการเงินมีฐานข้อมูลของลูกค้าที่ดีและกว้างขึ้นด้วย
4. สามารถนำไปช่วยงานการวางแผนดำเนินการเพื่อกันสำรองเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ และเป็นเครื่องมือที่ช่วยชี้คุณภาพของหนี้ที่มีในกลุ่มว่าน่าจะมีหนี้ดีกี่เปอร์เซ็นต์ และหนี้จัดชั้นกี่เปอร์เซ็นต์ ซึ่งทำได้โดยการนำคะแนนรวมที่ได้จากการประเมินลูกค้าสินเชื่อทุกรายมาวิเคราะห์โดยการแยกกลุ่มลูกค้าหรือหาสัดส่วนของลูกค้าที่ธนาคารยอมให้สินเชื่อกับปฏิเสธการให้สินเชื่อ ระบบนี้จึงช่วยปรับปรุงระบบการควบคุมการบริหารงานตรวจสอบและติดตาม (Monitoring) ให้กับผู้บริหารงานสินเชื่อไปในตัวด้วย
ข้อจำกัดของระบบเครดิตสกอริ่ง
ถึงแม้ระบบเครดิตสกอริ่ง จะมีส่วนช่วยลดงานการบริหารลูกค้าสินเชื่อ แต่อย่างไรก็ตามคะแนนที่ได้จากการคำนวณจะเป็นคะแนนรวมที่สามารถนำมาใช้ประเมินฐานะของลูกค้าสินเชื่อได้อย่างมีนัยสำคัญก็ต่อเมื่อสถาบันการเงินแห่งนั้นข้อมูลในอดีตที่สมบูรณ์ครบถ้วนและมีจำนวนที่มากพอ เพราะสถิติที่นำมาคำนวณนั้นจะเป็นเครื่องสะท้อนภาพในอนาคตที่มีสมมติฐานว่าเป็นไปในแนวโน้มที่ย้อนรอยจากอดีต ด้วยเหตุนี้การนำเทคนิคเครดิตสกอริ่ง มาใช้ในงานการอนุมัติสินเชื่อ สถาบันผู้ให้สินเชื่อที่ใช้ระบบเครดิตสกอริ่งจะต้องออกแบบฟอร์มการยื่นขอสินเชื่อให้มีสาระครอบคลุมเพื่อที่จะสามารถประเมินระดับความเสี่ยงจากการให้สินเชื่อได้และไม่ทำให้การรายงานผลการคำนวณที่เป็นคะแนน เกิดความคลาดเคลื่อนขึ้น อันนำไปสู่ขั้นตอนการตัดสินใจยอมรับหรือปฏิเสธลูกค้าสินเชื่อรายนั้นๆ ที่โปร่งใสโดยผู้บริหารต่อไป นอกจากนี้ยังมีข้อพึงระวังในกรณีที่เป็นสินเชื่อรูปแบบใหม่ของสถาบันการเงิน ซึ่งพบว่าไม่มีตัวเลขสถิติในอดีตที่จะสามารถนำมาใช้เป็นมาตรฐานตลอดจนใช้ในการเปรียบเทียบกับคะแนนที่เกิดขึ้นจากการคำนวณได้ การนำระบบเคริตสกอริ่งมาใช้ในงานการอนุมัติสินเชื่อจึงไม่สามารถประเมินผลและสรุปทางเลือกเพื่อการตัดสินใจได้ และที่สำคัญถึงแม้ว่าเทคนิคของระบบเครดิตสกอริ่งจะสามารถประเมินค่าความเสี่ยงจากการให้สินเชื่อได้ค่อนข้างใกล้เคียงกับค่าที่ควรจะเป็นและมีการเรียงลำดับสินเชื่อรายที่มีความเสี่ยงน้อยไปหามาก แต่ปัจจัยที่มีผลกระทบต่อการเพิ่มขึ้นของความเสี่ยงในการให้สินเชื่อแก่ลูกค้ารายนั้นๆ ยังเป็นประเด็นที่ยังมีความจำเป็นและต้องนำมาประกอบการตัดสินใจอนุมัติสินเชื่อด้วย ตัวอย่างเหตุการณ์ในอดีตที่เคยเป็นสาเหตุให้ลูกหนี้สินเชื่อกลายเป็นลูกหนี้ที่มีปัญหา นโยบายการให้สินเชื่อขององค์กร เช่น เงื่อนไขพิเศษในการพิจารณาสินเชื่อของพนักงานภายในองค์กรเดียวกันซึ่งอาจถือเป็นสวัสดิการที่ให้กับพนักงาน บทบาทการช่วยเหลือสังคมและสถาบันการเงิน เป็นต้น
ถึงแม้ระบบเครดิตสกอริ่งจะช่วยในการคำนวณหาระดับความเสี่ยงของลูกค้าแต่ละรายได้อย่างรวดเร็วและมีมาตรฐาน เนื่องจากได้นำปัจจัยเกี่ยวเนื่องทุกอย่างซึ่งรวมทั้งอุปนิสัยและความสม่ำเสมอในการชำระเงินงวดสินเชื่อของลูกค้ามาร่วมคำนวณด้วย ทำให้สถาบันผู้ให้สินเชื่อสามารถประเมินความเสี่ยงของลูกค้าได้ ขณะเดียวกัน ฐานข้อมูลยังเป็นประโยชน์ต่อการวิเคราะห์ทางการตลาด ทำให้ธนาคารสามารถหากลุ่มลูกค้าเป้าหมายได้ง่ายและจัดเจนขึ้น ซึ่งเป็นการลดขั้นตอนการดำเนินงานและลดภาระต้นทุนการดำเนินงานสินเชื่อของสาขาได้โดยตรง อย่างไรก็ตามการนำเทคนิคนี้มาใช้ในงานบริหารสินเชื่อของสถาบันการเงินโดยเฉพาะธนาคารพาณิชย์ คงมิได้หมายความว่าธนาคารจะไม่มีความเสี่ยงในการดำเนินธุรกิจอีกต่อไป หรือปัญหาและอุปสรรคต่างๆ ตลอดจนความเสี่ยงในการอนุมัติสินเชื่อส่วนบุคคลรายนั้นๆ จะหมดไปโดยสิ้นเชิง หากแต่ระบบเครดิตสกอริ่งเป็นเพียงส่วนหนึ่งในบรรดาเครื่องมือบริหารความเสี่ยงเท่านั้น ระบบเครดิตสกอริ่ง จะมีประสิทธิภาพในการช่วยการตัดสินใจของผู้บริหารและลดความเสี่ยงให้กับองค์กรได้มากน้อยเพียงใด ส่วนหนึ่งย่อมขึ้นอยู่กับระดับความสามารถในการวิเคราะห์ของผู้ที่มีหน้าที่เกี่ยวข้อง การพัฒนางานด้านโปรแกรมคอมพิวเตอร์ กระบวนการตัดสินใจอนุมัติสินเชื่อ นโยบายการให้สินเชื่อขององค์กร ตลอดจนการกำหนดแผนปฏิบัติงานและโครงสร้างการบริหารขององค์กรเป็นสำคัญด้วย
ในทางปฏิบัติ การจัดอันดับเครดิตและการประเมินค่าความเสี่ยงในสินเชื่อกำลังมีความสำคัญกับสถานการณ์ในปัจจุบันนี้ ทำให้สถาบันการเงินหลายแห่งเริ่มให้ความสนใจกับการบริหารความเสี่ยงในสินเชื่อ เช่น ธนาคารพาณิชย์ไทย เป็นต้น จึงควรมาทำความเข้าใจกับการจัดอันดับเครดิตองค์กรและการบริหารความเสี่ยงในสินเชื่อของสถาบันการเงิน
อันดับเครดิตองค์กร (Company Rating) แสดงถึงความสามารถในการชำระหนี้และการปฏิบัติตามข้อผูกพันทางการเงินทั้งหมดขององค์กรใดองค์กรหนึ่ง โดยไม่เจาะจงประเภทของตราสารขององค์กรนั้น ตัวอย่างเช่น อันดับเครดิตของบริษัท ก จำกัด แสดงถึงความสามารถในการชำระหนี้โดยทั่วไปของบริษัท ก จำกัด รวมทั้งแสดงถึงระดับความสามารถในการปฏิบัติตามข้อผูกพันทางการเงินที่มีต่อเจ้าหนี้ของบริษัท ก จำกัด โดยไม่เจาะจงอายุและประเภทของตราสารที่บริษัท ก จำกัด ได้ออกไปแล้ว กล่าวอีกนัยหนึ่งได้ว่า อันดับเครดิตของบริษัท ก จำกัด จะบอกถึงศักยภาพทางการเงินโดยทั่วไปของบริษัท ก จำกัด
การจัดอันดับเครดิตขององค์กร ได้แก่ การให้อันดับเครดิตแก่องค์กรโดยพิจารณาจากความสามารถและความเต็มใจในการชำระหนี้ในเรื่องเงินต้นและดอกเบี้ยได้เต็มตามจำนวนและตรงตามกำหนดเวลา รวมถึงความสามารถในการปฏิบัติตามข้อผูกพันทางการเงินต่างๆ ที่องค์กรได้ให้ไว้ อันดับเครดิตองค์กรจะสะท้อนความน่าเชื่อถือโดยรวมขององค์กรโดยไม่ระบุประเภทหรือเงื่อนไขของตราสารหรือภาระผูกพันใดๆ ที่องค์กรได้ให้ไว้เป็นการเฉพาะ โดยมีการจัดอันดับเครดิตให้แก่ผู้ประกอบการในทุกประเภทอุตสาหกรรม ทั้งที่จดทะเบียนและมิได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ และทั้งที่เป็นผู้ประกอบการภาคเอกชนและภาครัฐ

ผู้ได้รับประโยชน์จากการจัดอันดับเครดิต
1. นักลงทุน เพื่อประกอบการตัดสินใจลงทุนในตราสารที่เหมาะสมกับระดับของความเสี่ยงที่นักลงทุนสามารถรับได้ โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายในการแสวงหาข้อมูลข่าวสารที่มากจนเกินไป
2. ผู้ออกตราสาร เพื่อให้เข้าถึงแหล่งระดมทุนได้ง่ายขึ้น รวมทั้งช่วยลดต้นทุนการระดมทุน เพราะอันดับเครดิตจะสะท้อนฐานะของผู้ออกตราสาร ทั้งนี้ นักลงทุนจะพิจารณาผลอันดับเครดิตของตราสารเป็นองค์ประกอบหนึ่งในการตัดสินใจลงทุน
3. เจ้าหนี้และสถาบันการเงิน เพื่อประกอบการพิจารณาความเสี่ยงในการให้สินเชื่อแก่ผู้ประกอบการอย่างเหมาะสม เนื่องจากการจัดอันดับเครดิตองค์กร (Company Rating) จะสะท้อนความสามารถในการชำระหนี้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย รวมถึงการปฏิบัติตามข้อผูกพันทางการเงินโดยรวมของผู้ประกอบการนั้นๆอีกด้วย
4. หน่วยงานกำกับดูแล เพื่อประกอบการกำหนดนโยบายกำกับดูแลตลาดทุนของประเทศ ซึ่งที่ผ่านมาสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้ใช้อันดับเครดิตเป็นส่วนหนึ่งในการกำกับดูแลนโยบายการลงทุนของนักลงทุนประเภทสถาบัน ได้แก่ กองทุนรวม และกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ในขณะที่กระทรวงการคลังซึ่งเป็นหน่วยงานกำกับดูแลกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ ก็ได้กำหนดระดับการลงทุนในตราสารตามระดับของอันดับเครดิตของตราสารนั้นๆ ด้วยเช่นกัน
ดังนั้นการจัดอันดับเครดิตองค์กรจะมีประโยชน์แก่นักลงทุนที่ต้องการพิจารณาความเสี่ยงของการลงทุนในบริษัทหนึ่งๆ เป็นการทั่วไป ผู้ที่ใช้อันดับเครดิตองค์กรมักได้แก่ สถาบันการเงินหรือเจ้าหนี้ต่างๆ เพื่อประกอบการพิจารณาปล่อยเงินกู้แก่บริษัท หรือในกรณีที่บริษัทใดๆ ต้องการใช้สินเชื่อของตนในการค้ำประกันการกู้ยืมเงินก็อาจอ้างถึงอันดับเครดิตองค์กรเพื่อประกอบการพิจารณาแก่เจ้าหนี้ก็ได้ นอกจากนี้ คณะกรรมการเบเซิล (Basel Committee) ยังเสนอให้ปรับปรุงระเบียบการดำรงเงินทุนสำรองขั้นต่ำของสถาบันการเงินโดยพิจารณาจาก อันดับเครดิตองค์กรของลูกหนี้สถาบันการเงินเป็นเกณฑ์ในการกำหนดความเสี่ยงของสถาบันการเงินแต่ละแห่งอีกด้วย
นักลงทุนที่ประสงค์จะใช้อันดับเครดิตควรจะศึกษาและทำความเข้าใจเกี่ยวกับความหมาย เงื่อนไข และข้อจำกัดของอันดับเครดิตแต่ละประเภทอย่างดีเพื่อป้องกันความสับสนที่อาจเกิดขึ้น ซึ่งสถาบันจัดอันดับเครดิตมักจะให้คำแนะนำรวมทั้งชี้แจงหลักเกณฑ์ในการให้อันดับเครดิตแต่ละประเภทแก่ผู้สนใจเพื่อให้อันดับเครดิตเป็นประโยชน์สูงสุดแก่นักลงทุนและ
ประชาชนทั่วไป

สัญลักษณ์และความหมายอันดับเครดิต
AAA มีความเสี่ยงในระดับต่ำที่สุด มีความสามารถในการชำระดอกเบี้ยและคืนเงินต้นในเกณฑ์สูงสุด ได้รับผลกระทบจากความเปลี่ยนแปลงทางธุรกิจและเศรษฐกิจน้อยที่สุด
AA มีความเสี่ยงในระดับต่ำมาก มีความสามารถในการชำระดอกเบี้ยและคืนเงินต้นในเกณฑ์สูงมาก แต่อาจได้รับผลกระทบจากความเปลี่ยนแปลงทางธุรกิจและเศรษฐกิจมากกว่าอันดับเครดิตที่สูงกว่า
A มีความเสี่ยงในระดับต่ำ มีความสามารถในการชำระดอกเบี้ยและคืนเงินต้นในเกณฑ์สูง แต่อาจได้รับผลกระทบจากความเปลี่ยนแปลงทางธุรกิจและเศรษฐกิจมากกว่าอันดับเครดิตที่สูงกว่า
BBB มีความเสี่ยงและมีความสามารถในการชำระดอกเบี้ยและคืนเงินต้นในเกณฑ์
ปานกลาง ความผันผวนที่เกิดขึ้นจากความเปลี่ยนแปลงทางธุรกิจและเศรษฐกิจอาจมีผลให้ความสามารถในการชำระหนี้ลดลงเมื่อเทียบกับอันดับเครดิตที่สูงกว่า
BB มีความเสี่ยงในระดับสูง มีความสามารถในการชำระดอกเบี้ยและคืนเงินต้นในเกณฑ์ต่ำกว่าระดับปานกลาง และจะได้รับผลกระทบจากความเปลี่ยนแปลงทางธุรกิจและเศรษฐกิจค่อนข้างชัดเจน มีปัจจัยที่คุ้มครองเจ้าหนี้ต่ำกว่าอันดับเครดิตที่สูงกว่า
B มีความเสี่ยงในระดับสูงมาก มีความสามารถในการชำระดอกเบี้ยและคืนเงินต้นในเกณฑ์ต่ำ และอาจจะหมดความสามารถในการชำระหนี้ได้ตามความเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์ทางธุรกิจและเศรษฐกิจ
C มีความเสี่ยงในการผิดนัดชำระหนี้สูงกว่าอันดับเครดิตในระดับที่สูงกว่า เพราะความสามารถในการชำระหนี้ต้องอาศัยเงื่อนไขที่เอื้ออำนวยทางธุรกิจ เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมอย่างมาก ความเปลี่ยนแปลงของเงื่อนไขต่างๆ จะส่งผลกระทบอย่างมาก
D เป็นระดับที่อยู่ในสภาวะผิดนัดชำระหนี้ โดยผู้ออกตราสารหนี้ไม่สามารถชำระดอกเบี้ยและคืนเงินต้นได้ตามกำหนด
หมายเหตุ : อันดับเครดิตตั้งแต่ระดับ AA ถึง C อาจมีเครื่องหมาย บวก (+) หรือ ลบ (-) ต่อท้ายเพื่อจำแนกความแตกต่างของคุณภาพของอันดับเครดิตภายในระดับเดียวกัน


 



อาจกล่าวได้ว่าความเสี่ยงด้านสินเชื่อ (Credit Risk) หมายถึงความเสี่ยงจากการที่ลูกค้าไม่สามารถชำระหนี้คืนได้ตามเงื่อนไขและข้อตกลงในสัญญา ซึ่งอาจเป็นเพราะลูกหนี้ประสบปัญหาทางการเงิน (Unable to pay) หรือบิดพลิ้วสัญญา (Unwilling to pay)

แหล่งที่มาของความเสี่ยงด้านสินเชื่อ

 1. ปัจจัยเสี่ยงภายนอก (External Risk Factors)
- สภาวะทางเศรษฐกิจ (Economic Condition)
- มาตรฐานสินเชื่อ (Credit Standards)
2. ปัจจัยเสี่ยงภายใน (Internal Risk Factors)
- มาตรฐานการพิจารณาสินเชื่อ (Underwriting Standards)
- การกระจุกตัวของสินเชื่อ (Concentrations)
- ประสบการณ์ของพนักงานสินเชื่อ (Experience of Staff)
- ระบบสารสนเทศเพื่อการบริหาร (Management Information Systems)

การจัดการความเสี่ยงในทางปฏิบัติ สามารถทำได้ดังนี้ คือ

 1) สร้างสภาพแวดล้อมการบริหารความเสี่ยงด้านสินเชื่อ
2) มีกระบวนการให้สินเชื่อที่ดี
3) มีกระบวนการบริหารสินเชื่อ การวัด และการติดตามความเสี่ยงที่เหมาะสม
4) ระบบการควบคุมที่เหมาะสมเพียงพอ

1. สร้างสภาพแวดล้อมการบริหารความเสี่ยงด้านสินเชื่อ (Establishing an appropriate credit risk environment) คณะกรรมการบริหารจะเป็นผู้อนุมัติกลยุทธ์และนโยบายที่สำคัญด้านความเสี่ยงในสินเชื่อ ตลอดจนรวมถึงการสอบทาน และจะต้องนำกลยุทธ์ไปใช้และพัฒนานโยบายและวิธีปฏิบัติ สำหรับสภาพแวดล้อมขององค์กร (Credit Culture) ที่สร้างปัญหา
ได้แก่
1.1 การให้สินเชื่อตามที่ได้รับคำสั่งหรือการชี้นำทางการเมือง
1.2 การดำเนินการเพื่อประโยชน์ของตนเอง (Self – dealing)
1.3 การมุ่งคำนึงถึงรายได้เป็นสำคัญ
1.4 การประนีประนอมในหลักการสินเชื่อ
1.5 การยอมรับข้อมูลสินเชื่อที่ไม่เพียงพอ
1.6 การขาดการควบคุมที่ดี
1.7 การขาดความสามารถทางเทคนิค
1.8 การเลือกประเด็นความเสี่ยงผิดพลาด
1.9 การให้กู้ยืมมากเกินไป
1.10 การแข่งขัน
จุดอ่อนที่สร้างปัญหาด้านสินเชื่อ
1. ไม่ให้ความสำคัญกับความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนอย่างเพียงพอ
2. ไม่ให้ความสำคัญกับการกระจุกตัวของสินเชื่ออย่างพอเพียง
3. ขาดนโยบายสินเชื่อที่ชัดเจนและถือปฏิบัติอย่างจริงจัง
4. ขาดระบบข้อมูลด้านสินเชื่อที่พอเพียง
อุปสรรคในการบริหารความเสี่ยงสินเชื่อ
1. วัฒนธรรมสินเชื่อ
2. ความเคยชินกับวิธีการทำงานแบบเดิม
3. ความล่าช้า
4. การเปลี่ยนแปลงบทบาทหน้าที่
5. ฐานข้อมูล

2. กระบวนการให้สินเชื่อที่ดี (Operating under a sound credit granting process)
2.1 ดำเนินการภายใต้หลักเกณฑ์การให้สินเชื่อที่ดีและปลอดภัย
2.2 มีการกำหนดวงเงินจำกัดสินเชื่อ credit limit โดยรวมของรายลูกค้าและ
รายกลุ่ม
2.3 มีการกำหนดกระบวนการอนุมัติสินเชื่อที่ชัดเจนทั้งรายใหม่และเพิ่มวงเงินรายเก่า
2.4 การขยายสินเชื่อมีการพิจารณาถึงความสามารถในการรับภาระความเสี่ยงในสินเชื่อ (arm’s length) ได้

3. กระบวนการบริหารสินเชื่อ การวัด และการติดตามความเสี่ยงที่เหมาะสม (Maintaining an appropriate credit administration,measurement and monitoring process)
3.1 ระบบการบริหารความเสี่ยงในสินเชื่อ อย่างต่อเนื่อง
3.2 ระบบการติดตามฐานะลูกหนี้แต่ละรายและการกันสำรองที่เพียงพอ
3.3 การพัฒนาและการใช้อันดับความเสี่ยงภายในองค์กร (Internal risk rating) ในการบริหาร
3.4 มีระบบข้อมูลที่ทันสมัย MIS และเทคนิคการวิเคราะห์ที่ดี
3.5 มีระบบติดตามองค์ประกอบโดยรวมและคุณภาพสินเชื่อของกลุ่มลูกค้า
3.6 มีการพิจารณาถึงการเปลี่ยนแปลงของสภาพเศรษฐกิจในอนาคต

4. ระบบการควบคุมที่เหมาะสมเพียงพอ (Ensuring adequate controls over credit risk)
4.1 มีระบบการสอบทานสินเชื่ออย่างต่อเนื่องและเป็นอิสระ
4.2 การให้สินเชื่อมีการบริหารอย่างเหมาะสม
4.3 มีระบบบริหารสินเชื่อด้อยคุณภาพ