พิธีการสินเชื่อ
เป็นขั้นตอนในการดำเนินการที่เกี่ยวกับทางกฎหมายเป็นหลักใหญ่ ซึ่งควรจะอาศัยความรู้ประสบการณ์และคำแนะนำของบุคคลด้านกฎหมาย แต่ควรจะทราบลักษณะกฎหมายพื้นฐาน ซึ่งประกอบด้วย
1. การรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับสถานะทางกฎหมายของผู้ขอสินเชื่อ เพื่อพิสูจน์ให้ทราบว่าผู้ขอสินเชื่อมีสถานะทางกฎหมายเป็นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคล มีความสามารถในการขอสินเชื่อหรือไม่ ทำนิติกรรมสินเชื่อได้หรือไม่ อย่างไร
2. ตรวจสอบหลักประกันสินเชื่อและทำการประเมินราคา มีการตรวจสอบหลักประกันตามความเป็นจริง เพื่อใช้เป็นหลักในการประเมินราคา
3. ทำนิติกรรมสินเชื่อ ดำเนินการให้ผู้ขอสินเชื่อลงนามในเอกสารนิติกรรม เพื่อเป็นหลักฐานว่าได้รับเงินไปแล้วและตกลงที่จะปฏิบัติตามเงื่อนไขในนิติกรรมนั้นๆ
4. จัดเก็บและควบคุมข้อมูลหลักประกันและเอกสารสินเชื่อ
พิธีการทางด้านสินเชื่อเป็นขั้นตอนหนึ่งที่กำหนดขึ้นมาเพื่อเป็นส่วนประกอบในการประกันความเสี่ยงที่ลูกหนี้อาจจะไม่สามารถชำระเงิน หรือชำระเงินแต่ไม่ตรงตามกำหนดเวลาที่ตกลงไว้
1. การรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับสถานะทางกฎหมายของผู้ขอสินเชื่อ
เพื่อใช้ประกอบการทำนิติกรรมสัญญาทางสินเชื่อ เพื่อให้การทำนิติกรรมสัญญาถูกต้องและผูกพันผู้ขอสินเชื่อได้ตามกฎหมาย
ก. สถานะของผู้ขอสินเชื่อ
- กรณีที่เป็นบุคคลธรรมดา ตรวจสอบจากบัตรประชาชนและสำเนาทะเบียนบ้าน
- กรณีที่เป็นนิติบุคคล เช่น บริษัทจำกัด บริษัท (มหาชน) จำกัด ตรวจสอบจากหนังสือรับรองบริษัท กรมทะเบียนการค้า กระทรวงพาณิชย์
ข. ความสามารถในการทำนิติกรรมสัญญาทางกฎหมาย
ค. ใบคำขอสินเชื่อ เป็นหลักฐานที่ผู้ขอสินเชื่อทำไว้กับผู้ให้สินเชื่อเมื่อเริ่มแรกในการขอสินเชื่อ
2. การตรวจสอบหลักประกันสินเชื่อ
เพื่อรวบรวมข้อมูลที่เป็นจริง และนำมาพิจารณาประเมินราคาเพื่อกำหนดมูลค่าโดยประมาณของหลักประกัน เพื่อให้ทราบว่าหลักประกันนี้จะคุ้มค่ากับสินเชื่อที่ให้ไปหรือไม่ เป็นการตรวจสอบสภาพความเป็นจริงโดยทั่วไปของหลักประกัน เช่น ลักษณะ ประเภทหรือทำเลที่ตั้ง สำหรับการประเมินราคาหลักประกันขึ้นอยู่กับความรู้ ความสามารถและประสบการณ์ของผู้ทำการประเมินหลักประกันนั้นๆ ซึ่งผู้ทำการประเมินอาจจะเป็นเจ้าหน้าที่สินเชื่อเอง หรือว่าจ้างบริษัท
ภายนอกที่รับทำการประเมินก็ได้ ขึ้นอยู่กับนโยบายของแต่ละหน่วยงาน
3. การทำนิติกรรมสัญญา
การทำนิติกรรมสัญญาจะต้องให้มีผลผูกพันทางกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับประเภทของสินเชื่อ โดยต้องครอบคลุมถึงเงื่อนไขทั้งหมดที่กำหนดไว้ในสินเชื่อรายนั้นๆ โดยกระทำออกมาเป็นแบบพิมพ์มาตรฐาน หรือจัดทำขึ้นใหม่ก็ได้สำหรับลูกค้าแต่ละรายโดยเฉพาะ ซึ่งการทำนิติกรรมสัญญาทางด้านสินเชื่อ แบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท คือ
3.1 นิติกรรมสัญญาหลัก เป็นนิติกรรมสัญญาที่เกี่ยวข้องกับวงเงินสินเชื่อแต่ละประเภท ได้แก่
ก. วงเงินกู้ระยะยาว (Long Term Loan) ทำในรูปสัญญาเงินกู้ ซึ่งจะต้องมีการกำหนดวงเงินสินเชื่อ อัตราดอกเบี้ย ระยะเวลาการผ่อนชำระ จำนวนเงินที่ต้องผ่อนชำระ (ต้องระบุทั้งในเรื่องจำนวนเงินต้นและจำนวนดอกเบี้ยที่ชำระในแต่ละงวดด้วย)
ข. วงเงินกู้ระยะสั้น (Short Term Loan) ทำในรูปของสัญญาเงินกู้เช่นกัน แต่จะมีเงื่อนไขกำหนดไว้ไม่มาก โดยกำหนดเฉพาะจำนวนเงินที่ขอกู้ อัตราดอกเบี้ย และกำหนดการชำระหนี้คืนเท่านั้น จึงมักจะทำในรูปของตั๋วสัญญาใช้เงิน (Promissory Note P/N) เพื่อประหยัดค่าอากรแสตมป์ และเพื่อความสะดวกรวดเร็วในการดำเนินคดีหากมีการฟ้องร้องขึ้นมา
ค. วงเงินกู้เบิกเกินบัญชี (O/D) ทำในรูปสัญญาเงินกู้เบิกเกินบัญชี ซึ่งมีเงื่อนไขครบถ้วนในการให้กู้ประเภทเบิกเงินเกินบัญชี
ง. วงเงินขายลดตั๋วเงิน (Bill Discount) ผู้ขอสินเชื่อจะต้องทำหนังสือรับผิดรับใช้ไว้ให้กับผู้ให้สินเชื่อ โดยมีสาระสำคัญว่า หากเมื่อตั๋วเงินถึงกำหนดชำระและผู้ให้สินเชื่อเรียกเก็บเงินตามตั๋วนั้นไม่ได้ ผู้ขอสินเชื่อสัญญาว่าจะชดใช้เงินตามตั๋วเงินนั้นให้แก่ผู้ให้สินเชื่อ แต่วงเงินประเภทนี้จะไม่มีสัญญากู้เงินเกิดขึ้น
จ. วงเงินออกหนังสือค้ำประกัน (Letter of Guarantee-L/G) ผู้ขอสินเชื่อมาติดต่อขอให้ผู้ให้สินเชื่อออกหนังสือค้ำประกันให้ โดยมีสาระสำคัญว่าหากผู้ให้สินเชื่อต้องชำระเงินไปตามภาระค้ำประกันแล้ว ผู้ขอสินเชื่อสัญญาว่าจะชดใช้เงินจำนวนนั้นให้แก่ผู้ให้สินเชื่อ
3.2 นิติกรรมสัญญาที่เกี่ยวข้องกับหลักประกันของสินเชื่อ เป็นนิติกรรมสัญญาที่เกิดขึ้นเพื่อให้มีผลทางกฎหมายในการเรียกร้องสิทธิในหลักประกันนั้นๆ กรณีไม่สามารถเรียกชำระหนี้ได้ แบ่งออกได้เป็น
ก. สัญญาค้ำประกัน คือ สัญญาซึ่งบุคคลภายนอกคนหนึ่งเรียกว่า ผู้ค้ำประกัน ผูกพันตนต่อเจ้าหนี้คนหนึ่งเพื่อชำระหนี้ เมื่อลูกหนี้ไม่ชำระหนี้นั้น แต่ถ้าหากมิได้ทำเป็นลายลักษณ์อักษรแล้ว จะฟ้องร้องไม่ได้โดยเด็ดขาด
วิธีทำสัญญาค้ำประกัน
- ต้องมีหลักฐานเป็นลายลักษณ์อักษร ซึ่งโดยมากแล้วจะแยกเป็นคนละสัญญากับสัญญาเงินกู้
- โดยการกำหนดให้บุคคลค้ำประกันลงนามในสัญญาค้ำประกันให้ไว้แก่ผู้ให้สินเชื่อโดยต้องระลึกไว้ว่าผู้ค้ำประกันเป็นบุคคลธรรมดา และมีความสามารถในการทำนิติกรรม รวมทั้งต้องให้คู่สมรสให้ความยินยอมในการทำสัญญาค้ำประกันนั้นด้วย (ถ้าหากมีคู่สมรส)
ข. สัญญาจำนอง คือ สัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่ง เรียกว่า “ผู้จำนอง” เอาทรัพย์สินมาไว้แก่บุคคลอีกคนหนึ่ง เรียกว่า “ผู้รับจำนอง” เป็นประกันการชำระหนี้โดยส่งมอบทรัพย์สินนั้นให้แก่ผู้รับจำนอง คำว่า ทรัพย์สิน หมายถึง อสังหาริมทรัพย์ หรือสังหาริมทรัพย์บางประเภท แต่มีเงื่อนไขว่าผู้จำนองต้องเป็นเจ้าของทรัพย์สินนั้นๆในขณะที่จำนอง ได้แก่ ที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เครื่องจักร (ซึ่งไม่สะดวกต่อการส่งมอบ จึงใช้วิธีการจดทะเบียนจำนองที่กระทรวงอุตสาหกรรม)
การบังคับจำนอง คือ การที่เจ้าหน้าที่ขอให้ศาลสั่งยึดทรัพย์สินที่จำนองออกขายทอดตลาด หรือขอให้ศาลสั่งบังคับให้เอาทรัพย์สินที่จำนองหลุดเป็นสิทธิแก่ตนเมื่อลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ เพื่อเอาเงินมาชำระหนี้
วิธีบังคับจำนอง
1. เอาทรัพย์สินที่จำนองออกขายทอดตลาด
2. ให้ทรัพย์จำนองหลุดเป็นสิทธิแก่ตน ในทางปฏิบัติกฎหมายบังคับไว้ว่าการทำนิติกรรมสัญญาจำนองจะต้องมีการจดทะเบียนจำนองกับกรมที่ดิน กระทรวงมหาดไทย จึงต้องใช้แบบฟอร์มสัญญาจำนองที่รัฐบาลกำหนดให้ โดยต้องเสียค่าธรรมเนียมร้อยละ 1 ของทุนจำนอง
ค. สัญญาจำนำ คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งเรียกว่า “ผู้จำนำ” ส่งมอบสังหาริมทรัพย์ สิ่งหนึ่งให้บุคคลอีกคนหนึ่ง เรียกว่า “ผู้รับจำนำ” เพื่อเป็นประกันการชำระหนี้
การจำนำต้องเป็นการจำนำสังหาริมทรัพย์เท่านั้น ถึงแม้ว่าสังหาริมทรัพย์นั้นจะมีทะเบียนก็ตาม เช่น สัตว์พาหนะ เรือยนต์ ฯลฯ ซึ่งผู้จำนำต้องมีกรรมสิทธิในทรัพย์สินที่จำนำ
วิธีจำนำ
1. ถ้าเป็นสังหาริมทรัพย์ทั่วไป : ผู้จำนำต้องส่งมอบทรัพย์สินให้แก่ผู้รับจำนำ
2. ตราสาร : ใช้วิธีสลักหลังไว้ที่ตราสารให้ทราบว่ามีการจำนำตราสารนั้น
2.1 กรณีเป็นใบหุ้น ให้จดทะเบียนการจำนำใบหุ้นไว้กับผู้ให้สินเชื่อ พร้อมทั้งส่งมอบใบหุ้นไว้กับผู้ให้สินเชื่อด้วย
2.2 กรณีเป็นพันธบัตร ได้แก่ พันธบัตรรัฐบาลที่ออกโดยธนาคารแห่งประเทศไทยและพันธบัตรที่ออกโดยองค์การโทรศัพท์ โดยวิธีจำนำพันธบัตรไว้กับผู้ให้สินเชื่อ
4. การจัดเก็บและควบคุมข้อมูลหลักประกันและเอกสารสินเชื่อ สามารถแบ่งออกได้เป็น
ก. การจัดเก็บและควบคุมข้อมูลสินเชื่อ ได้แก่ ภาพถ่ายบัตรประชาชน สำเนาทะเบียนบ้าน รายงานการประชุม โฉนดที่ดิน รายงานการวิเคราะห์สินเชื่อ ใบอนุมัติสินเชื่อ บันทึกการติดต่อ ฯลฯ
ข. การจัดเก็บและควบคุมเอกสารนิติกรรม เพื่อให้มีความปลอดภัยมากที่สุด ไม่ให้เกิดการสูญหายโดยเด็ดขาด
- รวบรวมต้นฉบับเอกสารนิติกรรมและเอกสารประกอบนิติกรรม
- จัดทำทะเบียนวงเงินและทะเบียนหลักทรัพย์
- รวบรวมต้นฉบับเอกสารประกอบนิติกรรม
- จัดเก็บต้นฉบับและคู่ฉบับของเอกสารนิติกรรมไว้เสมอ